posttoday

SPCGร่วมเอ็นคอมดันติดหลังคาโซลาร์เซล

12 กรกฎาคม 2556

SPCGเซ็นเอ็มโอยูกับ เอ็นคอม ลุยศึกษาติดโซลาร์เซลบนหลังคาบ้านเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง ช่วยประชาชนประหยัดค่าไฟฟ้า

SPCGเซ็นเอ็มโอยูกับ เอ็นคอม  ลุยศึกษาติดโซลาร์เซลบนหลังคาบ้านเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง ช่วยประชาชนประหยัดค่าไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ได้มีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Roof) ระหว่าง บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับ บริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด (SPR) บริษัทในเครือ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน)

นายปัญญา เล่าชู รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่าพีอีเอ เอ็นคอมฯ เป็นบริษัทในเครือของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA ซึ่งดำเนินธุรกิจลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการลงทุนด้านพลังงานทดแทน ซึ่งพีอีเอ เอ็นคอมฯ เล็งเห็นว่าความร่วมมือกับ บริษัท  โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด (SPR) ที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา การพัฒนาธุรกิจบริการพลังงานหรือ ESCO ตลอดจนการศึกษาการจัดการระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

ทั้งนี้นอกจากจะเป็นการช่วยลดต้นทุนแก่ผู้ใช้ไฟแล้ว ยังช่วยลดการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในช่วงที่มีการใช้ไฟสูงสุดหรือ Peak Load ได้อีกด้วย นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการส่งเสริมและผลักดันธุรกิจด้านพลังงานทดแทนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่สามารถขยายผลในวงกว้างสู่ภาคครัวเรือนได้ เพื่อสร้างประโยชน์แก่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า และสนองตอบนโยบายของประเทศต่อไป

ขณะที่ น.ส.วันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ “SPCG” กล่าวว่าการลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมการแสวงหาพลังงานทดแทนมาใช้ประโยชน์

สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้เราจร่วมมือกัน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาโอกาสทางธุรกิจด้านการส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา บ้าน อาคาร เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ 2.ส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าและลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีการใช้สูงสุด (Peak) เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนพลังงานและลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และ 3. ร่วมกันพัฒนา ESCO : Energy Service Company เพื่อให้บริการเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการอนุรักษ์พลังงานครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ การอนุญาต การหาแหล่งทุน การติดตั้ง การตรวจวัดเพื่อประเมินผล การประหยัดและให้การรับประกันผลการประหยัดพลังงาน อันจะเป็นประโยชน์ทุกฝ่ายอีกด้วย