posttoday

องอาจชี้รัฐลดราคาจำนำแต่ต้นทุนชาวนาพุ่ง

23 มิถุนายน 2556

องอาจจวกนายกฯบริหารโครงการรับจำนำข้าวผิดพลาดหยุดบิดเบือนโยนบาปใส่ข้าราชการประจำ ชี้ลดราคาจำนำ แต่ต้นทุนชาวนาเพิ่มขึ้น

องอาจจวกนายกฯบริหารโครงการรับจำนำข้าวผิดพลาดหยุดบิดเบือนโยนบาปใส่ข้าราชการประจำ ชี้ลดราคาจำนำ แต่ต้นทุนชาวนาเพิ่มขึ้น 

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงคำชี้แจงของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวที่ยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อและสาเหตุที่ทำให้โครงการเจ๊งเกิดจากข้าราชการนั้นเป็นการบิดเบือนความจริง เพราะกำหนดนโยบายผิดพลาดบริหารล้มเหลวจนนำไปสู่การขาดทุน เนื่องจากมีการทุจริตคอร์รัปชั่นแบบครบวงจร

ดังนั้นรัฐบาลต้องเลิกโยนบาปให้ข้าราชการเพราะความผิดพลาดเกิดจากนโยบายที่ผิดพลาดเชื่อว่ากำหนดราคาสูงจะดึงราคาตลาดโลกให้สูงตาม ประกอบกับมีการทุจริต บริหารล้มเหลวก็ยิ่งทำให้เกิดการขาดทุน ยิ่งเมื่อลดราคาจำนำลงเหลือ 12,000 บาทก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อชาวนามากขึ้น และโครงการนี้สร้างความเสียหายมากจนประชาชนยอมรับไม่ได้ รวมถึงนักวิชาการหรือแม้แต่สส.ของพรรคเพื่อไทยเอง เพราะเห็นว่าทำให้เกิดผลกระทบในหลายด้าน แม้แต่ นายธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เห็นว่า นโยบายประกันรายได้ ส่งผลดีกว่านโยบายรับจำนำข้าว เพราะผลประโยชน์ถึงมือชาวนาเต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่า คือรัฐขาดทุนเท่าไร ชาวนาก็ได้ประโยชน์เท่านั้น

อีกทั้งผลสำรวจความเห็นของประชาชนก็เห็นว่าล้มเหลวก่อให้กิดความเสียหาย นายกจึงควรตั้งสติทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดในฐานะที่เป็นนายกและประธาน ก.ข.ช.ที่มีหน้าที่โดยตรง อย่าโยนความผิดให้ใคร เพราะคนที่ท้วงติงมีเจตนาดีอยากให้ชาวนาได้ประโยชน์เต็มที่ไม่ให้ หากจะเดินหน้าโครงการต่อไปต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นไม่ใช่เลวร้ายลงเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นายกจึงต้องดูใน 3 ส่วนคือ

1. ต้องพิจารณาว่าการซื้อข้าวโดยรัฐบาลเป็นพ่อค้าซื้อแพงไม่สามารถระบายออกได้ในราคาที่ซื้อมาแต่ต้องขายขาดทุนเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อไปหรือไม่ 2. งบประมาณที่ต้องหมดไปกับการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพเกิดช่องว่างให้หาประโยชน์โดยมิชอบจะมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างไร 3. งบประมาณที่ถูกนำไปเล่นแร่แปรธาตุให้ตกไปอยู่ในกระเป๋า พ่อค้า นักการเมือง และข้าราชการบางคน นายกฯยังไม่เคยส่งสัญญาณที่จะแก้ปัญหา ซึ่งพรรคยืนยันว่ารัฐบาลมีสิทธิดำเนินนโยบายเพื่อส่วนรวมแต่ไม่มีสิทธิทำนโยบายที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศ ไม่ใช่ 100 % ชาวนาได้แค่ 30 % ส่วนอีก 70 % คนอื่นได้ประโยชน์ จึงอยากให้นายกฯตั้งสติมองการท้วงติงในทางบวกก็จะเห็นหนทางในการแก้ปัญหา แต่ถ้าปิดหูปิดตาไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ปัญหาก็จะยังคงอยู่

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพรรคได้มอบหมายให้สส.ของพรรคตรวจสอบข้อมูลหลายพื้นที่ หลังรัฐบาลประกาศลดราคารับจำนำจาก 15,000 บาทเหลือ 12,000 บาท พบว่าค่าใช้จ่ายของชาวนาก่อนจะมีการรับจำนำ 15,000 บาท ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 4,500 บาทต่อไร่ ตอนนี้เพิ่มขึ้นไปประมาณเกือบ 9,000 บาทต่อไร่ ปัจจัยที่เพิ่มขึ้นคือ ค่าเช่าจาก 1,000 เพิ่มเป็น 3,000 บาทต่อไร่ ปุ๋ยคอกจาก 8 บาทต่อถุงเป็น 30 บาทต่อถุง ค่าแรงพ่นยากำจัดศัตรูพืช 100 บาทต่อถังเป็น 250 บาทต่อถัง ค่าจ้างคนงานเก็บข้าวดีดที่ในมากับพันธุ์ข้าวจาก 150 บาทต่อไร่ เป็น 300 บาทต่อไร่ ค่าปั่นนา (ปั่นดินให้อยู่ในสภาพพร้อมทำนา) เดิม 180 บาทต่อไร่ เป็น 300 บาทต่อไร่ ค่าทำเทือกจาก 180 บาทต่อไร่ เพิ่มเป็น 250 บาทต่อไร่ ค่าพันธุ์ข้าวปลูกจาก 550 บาท เพิ่มเป็น 750 บาทค่าแรงหว่านข้าวเดิม 30 บาทต่อไร่ เพิ่มเป็น 60 บาทต่อไร่ ค่ายาฆ่าหญ้าวัชพืชจาก 75 บาท เป็น 150 บาท ค่าแรงฉีดยา 30 บาทต่อไร่แพิ่มเป็น 60 บาทต่อไร่ และค่ายาคุมหญ้าวัชพืช 50 บาทต่อไร่ เพิ่มเป็น 70 บาทต่อไร่ ค่าปุ๋ยเคมีเดิม 800 บาทเป็น 1,500 บาทต่อไร่ ค่าแรงใส่ปุ๋ยเคมีเดิม 30 บาทต่อไร่ เป็น 60 บาทต่อไร่ ค่ายาบำรุงข้าวและฮอร์โมนเดิม 650 บาทต่อไร่เพิ่มเป็น 900 บาทต่อไร่ ค่าแรงพ่นยาบำรุงข้าว 30 บาทต่อไร่ เป็น 60 บาทต่อไร่

ค่าน้ำมันสูบน้ำเข้านาไม่มีความเปลี่ยนแปลง แต่ค่ารถเกี่ยวข้าวและบรรทุกไปจำนำจาก 400 บาทต่อไร่ เพิ่มเป็น 600 บาทต่อไร่ เฉลี่ยค่าใช้จ่ายของชาวนาเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว จึงขอตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่าสาเหตุที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็นเพราะพ่อค้ารู้ว่าชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นจึงไปเพิ่มราคา แต่ในขณะนี้ชาวนามีรายได้ลดลงแต่ค่าใช้จ่ายไม่ลดตาม รัฐบาลจะช่วยเหลืออย่างไรเพาะเป็นผลพวงจากการบริหารที่ล้มเหลวของรัฐบาล เพราะยังไม่เห็นทางออกว่ารัฐบาลจะเข้ามาควบคุมให้ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิมก่อนที่จะมีโครงการจำนำข้าว 15,000 บาทอย่างไร
         
สำหรับข้าวพิจิตรที่หายไปนั้นเกิดปัญหาเพราะชาวนาไปทวงถามข้าวที่นำเข้าโครงการแต่ไม่ได้รับเงินจนมีการตรวจสอบและพบว่าข้าวไม่มีอยู่ในโกดังแล้ว ซึ่งเรื่องนี้พรรคได้ตรวจสอบมาตั้งแต่ต้นว่าชาวนาที่พิจิตรไม่ได้รับใบประทวนทั้งที่นำผลลิตเข้าโครงการแล้ว และยังไม่ได้รับเงินจากโรงสี ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เข้าไปตรวจสอบจนเรื่องแดงขึ้นมาว่า ข้าวหาย ชาวนาไม่ได้ใบประทวน เงินก็ไม่ได้ ซึ่งพรรคจะตรวจสอบต่อว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาและช่วยเหลือชาวนาอย่างไร

ส่วนกระบวนการตรวจสอบโรงสีทั่วประเทศที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ กำหนดว่าจะดำเนินการในวันที่ 29 มิ.ย. 56 เป็นแค่ความพยายามที่จะกลบเกลื่อนความผิดพลาดของรัฐบาลเท่านั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นตอแต่แก้ที่ปลายเหตุและไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ต้องถามว่าสองปีที่ผ่านมาทำไมจึงไม่มีการตรวจสอบ จึงเชื่อว่าเป็นแค่การเล่นปาหี่อีกฉากหนึ่งของรัฐบาลเท่านั้น อาจได้ปลาซิวปลาสร้อยมาแต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตอจากการทุจริตเพราะบริหารล้มเหลว หากไม่แก้ตรงจุดนี้ไม่ว่าจะลดราคาจำนำอย่างไรก็แก้ไม่ได้แต่ปัญหาจะสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงขอให้นายกรัฐมนตรีหูตาสว่างเปิดใจให้กว้าง รับข้อมูลจากคนอื่นนอกจากคนรอบข้างที่ป้อยอด้วยข้อมูลไม่จริง