posttoday

แนงรบนมพร้อมดื่มเปิดเออีซีชิง 4.5 แสนล.เดือด

07 มิถุนายน 2556

อุตสาหกรรมนมพร้อมดื่มในภูมิภาคอาเซียนอีก 2 ปีข้างหน้านี้ การแข่งขันจะมีความรุนแรงมากขึ้น หลายแบรนด์ดาหน้าปูรากฐานเข้าสู่สมรภูมิรบเพื่อยึดหัวหาดอย่างเต็มสูบ เพราะด้วยตลาดที่มีมูลค่า 4.5 แสนล้านบาท หรือ 1 หมื่นล้านลิตร และเติบโตเพียง 4.6% ขณะที่คนอาเซียนดื่มนม 60 ลิตรต่อคนต่อปี เทียบกับตลาดโลก 104.7 ลิตรต่อคนต่อปี ถือว่ายังมีโอกาสโตได้อีกมาก

อุตสาหกรรมนมพร้อมดื่มในภูมิภาคอาเซียนอีก 2 ปีข้างหน้านี้ การแข่งขันจะมีความรุนแรงมากขึ้น หลายแบรนด์ดาหน้าปูรากฐานเข้าสู่สมรภูมิรบเพื่อยึดหัวหาดอย่างเต็มสูบ เพราะด้วยตลาดที่มีมูลค่า 4.5 แสนล้านบาท หรือ 1 หมื่นล้านลิตร และเติบโตเพียง 4.6% ขณะที่คนอาเซียนดื่มนม 60 ลิตรต่อคนต่อปี เทียบกับตลาดโลก 104.7 ลิตรต่อคนต่อปี ถือว่ายังมีโอกาสโตได้อีกมาก

สำหรับความเคลื่อนไหวตลาดนมพร้อมดื่มในอาเซียน มีหลายแบรนด์ที่เข้าไปปักธงในตลาด อาทิ โฟร์โมสต์ โชคชัย โอวัลติน นอกจากทำตลาดในกัมพูชาและพม่า โฟร์โมสต์และดัชมิลล์ยังวางแผนสร้างโรงงานผลิตน้ำนมในพม่า เพื่อให้ต้นทุนผลิตต่ำลงและทำให้แข่งขันกับนมวินามิลค์แบรนด์จากเวียดนาม ซึ่งวางราคาสินค้าที่ถูกกว่าได้

วรเทพ รางชัยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดัชมิลล์ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนมเปรี้ยวพร้อมดื่มดัชมิลล์ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมนมในตลาดอาเซียน วินามิลค์ ถือว่าเป็นแบรนด์ที่โดดเด่นและพัฒนาเร็วมาก เพราะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล อีกทั้งยังมีสินค้าที่ครบไลน์ มียอดขาย 3.2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ การก้าวสู่ตลาดอาเซียนเพื่อรับกับการเปิดเออีซี ปี 2558 ผู้ผลิตไทยต้องเตรียมความพร้อมรับกับการแข่งขันในตลาดต่างประเทศและในประเทศ ซึ่งคาดว่าอีก 2 ปี จะแข่งขันกันอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาผู้ผลิตนมไทยขณะนี้ คือ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างการผลิต การจัดการอย่างเป็นระบบมาตรฐานจีเอพีและจีเอ็มพี ทำให้กังวลว่าไทยจะไม่สามารถแข่งขันได้ในอนาคต

สำหรับบริษัทได้เพิ่มศักยภาพการผลิต โดยมีคอนแทรกต์ฟาร์มมิง 3,587 ฟาร์ม มีสมาชิกได้จีเอพี 40% และเพิ่มเป็น 7080% และเตรียมทุ่มงบ 1,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตนมในพม่า 3-5 ปีนี้ เพื่อก้าวสู่ผู้นำตลาดนมอาเซียน 5 ปี รายได้ 3.4 หมื่นล้านบาท จากปีที่แล้ว 1.7 หมื่นล้านบาท

ชนินทร์ อรรจนานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนมพร้อมดื่มโฟร์โมสต์ เปิดเผยว่า แผนการตลาดอาเซียนอีก 1-2 ปีนี้ บริษัทจะบุกตลาดพม่า โดยทุ่มงบกว่า 1,000 ล้านบาท สร้างโรงงานนมข้นหวานทำตลาดก่อน และสร้างโรงงานนมพร้อมดื่มเป็นขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทถือว่ามีโรงงานครอบคลุมในอาเซียนแล้ว โดยมีเพียงลาวและกัมพูชาที่บริษัทไม่มีโรงงาน การตั้งโรงงานที่ประเทศต่างๆ ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำและเอื้อต่อระบบการกระจายสินค้า

ขณะที่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีก 2 ปีข้างหน้านี้ คาดว่านมจากเวียดนามจะเป็นแบรนด์ที่โดดเด่นจากการใช้กลยุทธ์ราคาทำตลาด เพราะมีต้นทุนผลิตต่ำกว่า โดยนมดิบมีราคา 15-16 บาทต่อ กก. เทียบกับไทย 18 บาทต่อ กก.

ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มตราช้าง กล่าวว่า การเข้าซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็นจะเอื้อประโยชน์เครือข่ายกระจายสินค้า ซึ่งเอฟแอนด์เอ็นเชี่ยวชาญการกระจายสินค้าในสิงคโปร์ มาเลเซีย และพม่า

สำหรับเอฟแอนด์เอ็น มุ่งขยายตลาดนมข้นหวานทีพ็อชและเอฟแอนด์เอ็น ในกัมพูชา ลาว และเวียดนาม ซึ่งไทยจะเป็นผู้ทำตลาด ส่วนระบบจัดจำหน่าย แต่งตั้ง บริษัท ไทค็อป ในเครือเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ กระจายสินค้าในเวียดนาม ขณะที่ กัมพูชา ลาว พม่า แต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในประเทศ

ทั้งนี้ บริษัทวางเป้าหมายรายได้ในกลุ่มอินโดจีนโตเพิ่มจาก 1,000 ล้านบาท เป็น 2,000 ล้านบาท ใน 5 ปี และรายได้เอฟแอนด์เอ็นเติบโตเท่าตัวจาก 1.1 หมื่นล้านบาท เป็น 2 หมื่นล้านบาท

ยุทธศาสตร์การทำตลาดนมอาเซียน สิ่งที่สำคัญคือ การสร้างความแข็งแกร่งการจัดจำหน่าย เพราะหากสร้างแบรนด์ให้ดีอย่างไร ถ้าสินค้าไม่มีขายก็ไม่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ ส่วนผู้ผลิตไทยต้องเร่งพัฒนา คือ การยกระดับมาตรฐานการผลิตจีเอพีและจีเอ็มพีให้อยู่ในระดับที่จะสามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ ไม่เช่นนั้นโอกาสในการชิงเข้าตลาดนมในอาเซียน มูลค่า 4.5 แสนล้านบาท คงจะลดน้อยลงแน่นอน