posttoday

อุตฯอาหารเนื้อหอมต่างชาติแห่ลงทุน

02 มิถุนายน 2556

เอสเอ็มอีต่างชาติแห่ลงทุนอุตสาหกรรมอาหาร หวังใช้ไทยเป็นฐานผลิตส่งออกอาเซียน

เอสเอ็มอีต่างชาติแห่ลงทุนอุตสาหกรรมอาหาร หวังใช้ไทยเป็นฐานผลิตส่งออกอาเซียน

นายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในอุตสาหกรรมอาหารจากหลายภูมิภาคทั่วโลก ทั้งจากเอเชีย ยุโรป และสหรัฐ ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยมีการสอบถามเพื่อหาพันธมิตรธุรกิจกับผู้ประกอบการไทยผ่าน ส.อ.ท. ทั้งจากญี่ปุ่น จีน อินเดีย สหรัฐ อาร์เจนตินา โปแลนด์ เป็นต้น

“ส่วนใหญ่ที่มา คือ อยากร่วมทุนกับคนไทย โดยจะให้ ส.อ.ท. ช่วยแนะนำและจับคู่ธุรกิจให้” นายวิศิษฎ์ กล่าว

สำหรับสาเหตุที่กลุ่มอุตสาหกรรมจากหลายประเทศสนใจมาลงทุนในไทย เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่กลางภูมิภาคอาเซียนที่เศรษฐกิจมีการเติบโต โดยเฉพาะตั้งอยู่ติดประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นพม่า กัมพูชา และลาว ซึ่งปกติจะมีการบริโภคในประเทศสูง แต่ยังไม่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการขยายตัว ทำให้ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากไทย

กลุ่มที่มีการเข้ามาลงทุนชัดเจนแล้ว คือเอสเอ็มอีจากญี่ปุ่น เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารในประเทศซบเซาหลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ เมื่อต้นปี 2554 ทำให้ผู้ประกอบการต้องออกมาหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ โดยอาเซียนถือเป็นเป้าหมายของนักลงทุนญี่ปุ่น และไทยมีความได้เปรียบในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ฝีมือแรงงาน วัตถุดิบ พันธมิตรธุรกิจ สถานที่ตั้งอยู่ใกล้ประเทศที่กำลังเติบโต ตลอดจนการส่งเสริมการลงทุนที่ให้สิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม

“นอกจากกลุ่มที่มาลงทุนในประเทศไทยมากอย่างยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์แล้ว ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่มีความชำนาญในอุตสาหกรรมอาหารที่มีคุณภาพด้วย การเข้ามาลงทุนนั้น มีทั้งที่เข้ามาลงทุนเพื่อผลิตส่งกลับไปญี่ปุ่น ขายในไทย และใช้ไทยเป็นฐานการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน” นายวิศิษฎ์ กล่าว

ทั้งนี้ จากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 (เดือน ม.ค.-เม.ย.) มีนักลงทุนต่างประเทศขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 747 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 5.10 แสนล้านบาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่มีการขอส่งเสริม 593 โครงการ เงินลงทุน 2.82 แสนล้านบาท

อุตสาหกรรมที่ขอรับการส่งเสริมนั้น พบว่าอุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร ซึ่งสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหาร มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ 210 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 8.32 หมื่นล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีการขอรับการส่งเสริมฯ 73 โครงการ รวมเงินลงทุน 2.29 หมื่นล้านบาท ตามด้วยบริการและสาธารณูปโภค 167 โครงการ เงินลงทุน 2.46 แสนล้านบาท ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง 156 โครงการ เงินลงทุน 1.24 แสนล้านบาท

สำหรับประเทศที่มีผู้ประกอบการมาขอรับการส่งเสริมลงทุนมากที่สุด คือ ญี่ปุ่น ขอรับการส่งเสริมรวม 216 โครงการ มูลค่าลงทุน 1.50 แสนล้านบาท สหรัฐ 28 โครงการ เงินลงทุน 4,600 ล้านบาท และยุโรป 49 โครงการ เงินลงทุน 1.36 หมื่นล้านบาท