posttoday

ITU มองไทยพัฒนาด้านโทรคมนาคมสูงขึ้น

04 พฤษภาคม 2556

เลขาธิการ ITU เผยการสื่อสารที่พัฒนาในไทยจะช่วยยกระดับเป็นสังคมอุดมปัญญา แนะกำกับดูแลแต่ไม่ควรควบคุมมากเกินไป

เลขาธิการ ITU เผยการสื่อสารที่พัฒนาในไทยจะช่วยยกระดับเป็นสังคมอุดมปัญญา แนะกำกับดูแลแต่ไม่ควรควบคุมมากเกินไป

พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) กล่าวในงานปาฐกถาพิเศษภายใต้หัวข้อ “มุมมองของเลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU กับการกำกับดูแลในยุคหลอมรวมสื่อ” ว่า กสทช. มีความร่วมมือกับ ITU ในหลายด้านมายาวนาน ด้วยความรู้และประสบการณ์ของ ITU ได้สร้างประโยชน์ต่อกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทย ทั้ง 2 องค์กร ได้ร่วมมือกันในหลายโครงการ อาทิ โครงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการโทรคมนาคมอย่างเท่าเทียม หรือโครงการพัฒนาสมรรถภาพบุคลากรของ กสทช. สำนักงาน กสทช. และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ล่าสุด กสทช. ได้รับการสนับสนุนจาก ITU ในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 3G   โดย ITU ได้จัดทำรายงาน Thailand 3G Auction Review Report ซึ่งผลการศึกษาได้ประเมินและรับรองว่า การประมูลคลื่นความถี่ 3G สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ

ดร.ฮามาดูน ตูเร เลขาธิการ ITU กล่าวว่า ประเทศไทยมีการใช้โทรศัพท์มือถือจำนวนเกินกว่า 100% แล้ว  จึงเห็นโอกาสของการใช้การสื่อสารที่จะเข้ามาพัฒนาทุกๆ สิ่งได้เป็นอย่างดี  เป้าประสงค์สูงสุดของ ITU คือการเห็นสังคมเป็นสังคมอุดมปัญญา  ที่ประชาชนสามารถที่จะเข้าถึงและใช้ฐานข้อมูลความรู้  พัฒนาต่อยอดและถ่ายทอดกันได้อย่างกว้างขวาง  ในมุมมอง ITU การประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2.1 GHz ที่ผ่านมาของประเทศไทยถือว่าประสบผลสำเร็จได้เป็นอย่างดียิ่ง สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้เป็นผลสำเร็จ ส่วนตัวมองว่า การประมูลคลื่นความถี่ของประเทศไทยมีการวางนโยบายได้เหมาะสม ไม่เน้นเรื่องรายได้จากการประมูลมากเกินไป มีการมองเรื่องประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นสำคัญ จึงทำให้การประมูลไม่ก่อให้เกิดปัญหา จนเป็นผลให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมไม่สามารถให้บริการได้เนื่องจากต้นทุนให้บริการนั้นสูงเกินไป

ประชาชนควรจะมีโอกาสได้รับบริการโทรคมนาคมพื้นฐานที่ทั่วถึง อันจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลสาร ความรู้ต่างๆ รวมทั้งบริการต่างๆ จากภาครัฐได้ โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องระยะทางต่อไป ปัจจุบันกว่า 2 ใน 3 ของประชากรในโลกนี้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แล้ว เป้าหมายท้ายที่สุด คือการเชื่อมโยงเหล่านี้จะทำให้ไปสู่สังคมอุดมปัญญา (Knowledge Society) และในสังคมอุดมปัญญาดังกล่าว ประชาชนจะต้องสามารถทำ 4 อย่างนี้ได้ ได้แก่ 1. ประชาชนต้องเข้าถึงความรู้เหล่านี้ได้ 2. ประชาชนต้องสามารถใช้ความรู้เหล่านี้ได้ 3. ประชาชนสามารถสร้างความรู้ได้ 4. ประชาชนสามารถแบ่งปันความรู้นี้ได้

สำหรับประเทศไทย กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจาก Analog ไปสู่ Digital TV นอกเหนือจากการบริหารคลื่นความถี่ให้พอเพียงกับกิจการวิทยุและกิจการโทรทัศน์แล้ว ยังควรต้องคำนึงถึงการกำหนด Digital Dividend ในช่วง 700 MHz เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงบริการ บรอดแบนด์ได้อย่างทั่วถึง จึงจะนับว่าเป็นการใช้คลื่นความถี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในประเด็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลในเรื่องการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน อยากให้ดูแลเรื่องการลดการลงทุนซ้ำซ้อน เพราะจะทำให้ต้นทุนบริการลดลง อันจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของแนวทางการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ควรเป็นแบบ Light- Touch Regulation คือการกำกับดูแลแบบไม่ลงไปควบคุมมากจนเกินไป แต่จะปล่อยให้กลไกในตลาดควบคุมกันเอง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า การกำกับดูแลที่ดีที่สุดคือการไม่จำเป็นต้องไปกำกับดูแล สำหรับ ITU เอง เราใช้การให้คำแนะนำ (Recommendation) แทนการออกกฎระเบียบ ข้อบังคับ และใช้วิธีการแสวงหาความเห็นร่วมของสมาชิกมากกว่าจะใช้วิธีการลงคะแนนเสียง