posttoday

หอการค้าเตรียมเข้าพบธปท.เร่งดูแลค่าบาท

02 พฤษภาคม 2556

หอการค้าไทย ระบุผู้ส่งออกเดือดร้อนหนักจากเงินบาทแข็งค่า เตรียมเสนอมาตรการต่อผู้ว่าการ ธปท. เพื่อบรรเทาผลกระทบ

หอการค้าไทย ระบุผู้ส่งออกเดือดร้อนหนักจากเงินบาทแข็งค่า เตรียมเสนอมาตรการต่อผู้ว่าการ ธปท. เพื่อบรรเทาผลกระทบ

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ภาคเอกชนมองว่ามีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างมาก โดยเฉพาะคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าจากต่างชาติลดลง เพราะผู้ประกอบการไทยไม่สามารถตั้งราคาขายได้ เนื่องจากค่าเงินบาทยังคงผันผวน

นายอิสระ กล่าวว่า เพื่อเป็นการดูแลผู้ประกอบการส่งออก ทางหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย จะไปพบกับผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือถึงแนวทางในการรับมือค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นสัปดาห์หน้า โดยจะเสนอให้กระทรวงการคลังและ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน และแข็งค่าหรืออ่อนลงไปในทิศทางเดียวกับประเทศในภูมิภาค รวมทั้งดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วย

ขณะเดียวกัน ในการดูแลผู้ประกอบการแต่ละรายต้องมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) ควรให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) จัดสรรวงเงินช่วยเหลือเอสเอ็มอี หรือลดค่าธรรมเนียมสำหรับการใช้เครื่องมือทางการเงิน รวมทั้งให้รัฐบาลสนับสนุนภาคธุรกิจปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจซื้อขายสินค้าระหว่างชายแดนด้วยค่าเงินบาทมากขึ้น

ทั้งนี้ ในการนำเสนอมาตรการต่างๆ ทั้งหมด เป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น หน้าที่ในการใช้มาตรการเป็นของภาครัฐและ ธปท. มากกว่า รวมถึงเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วย แต่เป็นเพียงการสอบถามข้อมูลเท่านั้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า  รัฐบาลและ ธปท.ควรหาแนวทางในการแก้ไข อาทิ การเก็บค่าธรรมเนียมเงินลงทุนต่างประเทศระยะสั้น เพื่อสกัดการไหลเข้ามาลงทุนเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ย ธปท.จะต้องพิจารณาให้เหมาะสมว่าควรจะปรับลดหรือไม่ แต่ปัจจุบันสัญญาณเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ จึงสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ 0.25% แต่จะต้องคำนึงถึงปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย ทั้งนี้ หากค่าเงินบาทยังแข็งค่าหลุดกรอบ 28 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะส่งผลให้การส่งออกจะขยายตัวเพียง 3% และทำให้จีดีพีของไทยลดลงเหลือ 4-4.5%