posttoday

5ผู้ส่งออกผลไม้ไทยร้องนายกฯถูกกีดกัน

25 เมษายน 2556

กลุ่มผู้ส่งออกผลไม้ฉายรังสีไปสหรัฐร้องนายกฯช่วย ไม่ได้รับความเป็นธรรมถูกกีดกันกำหนดเงื่อนไขใหม่

กลุ่มผู้ส่งออกผลไม้ฉายรังสีไปสหรัฐร้องนายกฯช่วย ไม่ได้รับความเป็นธรรมถูกกีดกันกำหนดเงื่อนไขใหม่

ที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ฉายรังสีไปสหรัฐอเมริกา จำนวน 5 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท เบสท์ฟรุ๊ต จำกัด บริษัท พี.โอ.เค อิมปอร์ต แอนด์ เอ็กซ์ปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท วัลวีร์ จำกัด บริษัท ไชน์โฟร์ท จำกัด และ บริษัท บีเคเค สยามอินเตอร์เทรด จำกัด เข้ายื่นหนังสือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อร้องขอความเป็นธรรม ถูกกีดกันไม่ให้ส่งผลไม้ โดยมี นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกฯเป็นผู้รับหนังสือ

นายสมโภชน์ วัลยะเสวี ตัวแทนศูนย์ประสานงานความร่วมมือไทย-สหรัฐอเมริกาเพื่อการส่งออกผลไม้ จำกัด(TUCC)กล่าวว่า บริษัทที่มายื่นหนังสือร้องเรียนล้วนเป็นผู้เริ่มต้นบุกเบิกส่งออกผลไม้ไทยฉายรังสีไปสหรัฐฯ จนได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในสหรัฐฯ เป็นอย่างดี แต่ขณะนี้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนจากการเปลี่ยนแปลงผู้ประสานงานในโครงการตรวจรับรองผลไม้ล่วงหน้า ภายใต้กำกับดูแลของ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2554 ที่ผ่านมา
 
ทั้งนี้ ผู้ประสานงานใหม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงระบบการส่งออก โดยเฉพาะการกำหนดเงื่อนไขการชำระค่าตรวจผลไม้ และการคิดราคาค่าตรวจผลไม้ จากเดิมที่ไม่มีการเรียกเก็บค่าตรวจผลไม้ล่วงหน้า มาเป็นการเรียกเก็บชำระค่าตรวจล่วงหน้าจำนวนร้อยละ 50 ของมูลค่าการตรวจทั้งฤดูกาล และเก็บค่าตรวจผลไม้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมเฉลี่ยกิโลกรัม 8 บาท มาเป็นกิโลกรัม 25 บาทในปัจจุบัน
 
อย่างไรก็ตาม ผลจากการที่ มกอช.เปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบการส่งออกผลไม้ของไทยไปสหรัฐฯ  ทำให้ต้นทุนการส่งออกสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ลดความสามารถในการแข่งขันในการส่งออก เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ไทยขายผลไม้ได้ราคาต่ำลง ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกผลไม้ลดลงตามลำดับ    นอกจากนั้นกฎระเบียบใหม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาฮุบการส่งออกแทนผู้ประกอบการไทย  กีดกันผู้ประกอบการส่งออกไทยรายเดิม ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรม สร้างความเสียหายต่อการส่งออกผลไม้ที่ด้อยคุณภาพไปสหรัฐฯ เป็นการทำลายตลาดส่งออกผลไม้ไทย ทำลายเกษตรกรไทยผู้ปลูกผลไม้ ซึ่งเห็นได้จากการต่อต้านและไม่ยอมรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากผู้ประกอบการนำเข้าผลไม้ไทยในสหรัฐฯ ที่ได้เข้าร้องเรียนต่อหอการค้าไทยอเมริกันแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย
  
นายสมโภชน์ กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการขอให้นายกรัฐมนตรี พิจาณาให้ความเป็นธรรมกับผู้ประสานงานรายเดิม และเคยร้องเรียนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้วแต่นิ่งเฉย ทั้งที่มีผลการดำเนินงานเป็นที่ยอมรับจากกลุ่มผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไทยเดิมที่ร่วมกันส่งออกและเปิดตลาดผลไม้ไทยในสหรัฐฯ ตั้งแต่เริ่มโครงการฯ  และได้รับการยอมรับจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ได้กลับมาทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานดังเดิม เพื่อให้การส่งออกผลไม้ไทยไปสหรัฐฯ กลับมาเป็นที่ยอมรับ สร้างชื่อเสียงให้กับผลไม้ไทย และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
    
อย่างไรก็ตาม นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์  รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนรับเรื่องพร้อมระบุว่า ปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหามา 2 ปีแล้ว และยังส่งผลกระทบต่อภาพร่วมเกษตรกร การส่งออก และรายได้ของประเทศ โดยจะรีบสรุปประเด็นเรื่องร้องเรียนร่วมถึงข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่ต้องการให้ จ้าง 2 บริษัท  TUCC และ BCC  ต่อ นายกฯ และจะเขียนแนบท้ายรายงานด้วยว่าเห็นควรให้เรียก นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ ผอ.มกอช.พร้อมกับผู้ประกอบการส่งออกผลไม้  มาร่วมกันชี้แจง ซึ่งจะเป็นผู้นั่งหัวโต๊ะทำการประชุมเอง เบื้องต้นคาดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นช่วงประมาณต้นเดือน พ.ค.หน้า