posttoday

ไทย-ภูฏานขยายความร่วมมือเกษตรกรรม

24 เมษายน 2556

ไทย-ภูฏาน จับมือร่วมบริหารจัดการระบบความปลอดภัยด้านอาหาร การเกษตร การตลาดและการท่องเที่ยว พัฒนาโอกาสทางการค้าการลงทุน

ไทย-ภูฏาน จับมือร่วมบริหารจัดการระบบความปลอดภัยด้านอาหาร การเกษตร การตลาดและการท่องเที่ยว  พัฒนาโอกาสทางการค้าการลงทุน

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือและติดตามการพัฒนาความร่วมมือด้านการเกษตรไทย - ภูฏาน ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการเกษตร ระหว่างวันที่ 12 -16 เมษายน 2556 ณ ประเทศภูฏาน ได้รับพระราชทานวโรกาสให้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังซุก ณ พระราชวังในนครทิมพู โดยได้พระราชทานแนวคิดในการพัฒนาการเกษตรระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะด้านเกษตรอินทรีย์ ที่ทรงเห็นว่าภูฏานน่าจะสามารถขยายตลาดในด้านสินค้านี้ได้ และประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าเกษตรดังกล่าวได้

ซึ่งนาย Lyonchhen Jigmi Y. Thinley นายกรัฐมนตรีของราชอาณาจักรภูฏาน นาย Lyonpo Ugyen Tshering รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ Dr.Pema Gyamtsho รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและป่าไม้ ได้สนองพระราชดำริของพระองค์ฯ และจากการติดตาม ประเมินการดำเนินการต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือทางด้านการเกษตรที่ได้มีการลงนามไปเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2553  ทั้งสองประเทศได้ยืนยันร่วมมือทางด้านการเกษตรระหว่างกันต่อไป

ทั้งนี้ ฝ่ายไทยจะให้การสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่บุคลากรของภูฏานทั้งในเรื่องการผลิต การปรับปรุงพันธุ์สัตว์และการบริหารจัดการสุขภาพสัตว์ ห้องปฏิบัติการตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าเกษตร การบริหารจัดการระบบความปลอดภัยด้านอาหาร การตลาดสินค้าเกษตร การสหกรณ์และการบริหารจัดการสหกรณ์ การผลิตและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ รวมทั้งการบริหารจัดการและการออกแบบภูมิทัศน์สวนไม้ดอกไม้ประดับ

“สาระสำคัญในบันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือทางด้านการเกษตร (MOU) ที่ได้มีการลงนามร่วมกันนั้น ถือเป็นกลไกและกรอบความร่วมมือที่สำคัญกับประเทศภูฏาน เนื่องจากทั้งสองประเทศ มีความคล้ายคลึงกันทั้งในด้านศาสนา แนวคิด จิตใจ รวมถึงการเป็นประเทศเกษตรกรรม และเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านการเกษตร ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาด้านการเกษตรภูฏานได้ต่อไป รวมทั้งเป็นช่องโอกาสการค้าและการลงทุนของประเทศไทยที่จะขยายการลงทุนสู่ประเทศภูฎานในอนาคต โดยเฉพาะการลงทุนด้านการผลิตอาหารที่ได้มาตรฐาน รองรับการขยายตัวของธุรกิจการท่องเที่ยว อันเป็นความร่วมมือสำคัญในการยกระดับความมั่นคงด้านอาหารของทั้งสองประเทศด้วย” นายยุคล กล่าว