posttoday

แก้จราจรเลียบทางรถไฟรังสิตรับรถไฟชานเมือง

22 เมษายน 2556

ทางหลวงชนบท สำรวจออกแบบถนนเลียบทางรถไฟ/ทางต่างระดับ ช่วง ม.ธรรมศาสตร์-นิคมฯนวนคร แก้ไขปัญหาจราจร รองรับรถไฟฟ้าสายสีแดง

ทางหลวงชนบท สำรวจออกแบบถนนเลียบทางรถไฟ/ทางต่างระดับ ช่วง ม.ธรรมศาสตร์-นิคมฯนวนคร แก้ไขปัญหาจราจร รองรับรถไฟฟ้าสายสีแดง

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมช.คมนาคม กล่าวว่า ในอนาคตจะมีโครงการรถไฟชานเมือง สายสีแดง ส่วนต่อขยายช่วงรังสิต – มธ. ศูนย์รังสิต ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร โดยมีสถานีรถไฟจำนวน 3 สถานี คือ สถานีคลองหนึ่ง สถานีเชียงราก และสถานี มธ. ศูนย์รังสิต ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2559 แต่ปัจจุบันยังมีสภาพปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณโดยรอบเขตนิคมอุตสาหกรรมนวนคร และถนนพหลโยธิน จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาการจราจร พร้อมทั้งมีการวางแผนออกแบบเส้นทางเพื่อเตรียมพร้อมรองรับโครงการรถไฟชานเมือง

เบื้องต้น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาการพัฒนาการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมทางถนน โดยเชื่อมโยงการเดินทางช่วง มธ. ศูนย์รังสิต - นิคมอุตสาหกรรมนวนคร โดยรอบรัศมี 10 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในย่านรังสิตด้านทิศใต้ ทิศตะวันตก และทิศตะวันออก จนจรดพื้นที่ทางทิศเหนือของ มธ. ศูนย์รังสิต ซึ่งเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมและแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ มีปริมาณการเดินทางสูง เพื่อบูรณาการการขนส่ง ทั้งโครงข่ายถนน การเดินทางของประชาชน และการขนส่งภายในพื้นที่และการขนส่งในระยะไกลให้มีการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุด

ด้านนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ทช. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินการพิจารณาออกแบบรายละเอียดและแนวทางการเชื่อมต่อถนนเลียบทางรถไฟ (Local Road) และโครงสร้างต่างระดับตัดผ่านทางรถไฟ โดยให้เชื่อมต่อกับถนนในปัจจุบันทั้งทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของแนวเส้นทางรถไฟ โดยทิศตะวันออกให้พิจารณาออกแบบถนนระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับถนนลาดยางเดิมของกรมโยธาธิการและผังเมือง บริเวณ กม.ที่ 1+582 เพื่อเข้าสู่ถนนพหลโยธินได้อย่างเหมาะสม และเชื่อมต่อถนนคลองหลวง - ด้านหลัง ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้ และทิศตะวันตกให้พิจารณาออกแบบโครงสร้างต่างระดับตัดผ่านทางรถไฟและถนนต่อเชื่อม เพื่อเชื่อมต่อระหว่างถนนเลียบคลองเปรมประชากร ขนาด 2 ช่องจราจร ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ ทช. กับด้านหลังนิคมอุตสาหกรรมนวนครและถนนคลองหลวง เพื่อเข้าสู่ถนนพหลโยธิน และเชื่อมต่อทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน - ปากเกร็ด) ได้

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการทำงาน ทช.ได้มีการศึกษาวางแผน และดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยจัดการประชุมเพื่อหารือและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ให้น้อยที่สุด ซึ่งในการจัดประชุมครั้งที่ 1 ที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยต่อโครงการนี้และต้องการให้โครงการนี้เกิดขึ้นโดยเร็ว