posttoday

วอนผู้ส่งออกเน้นคุณภาพสินค้า

08 เมษายน 2556

พาณิชย์วอนพ่อค้าคนกลาง-เกษตรกรอย่าส่งผลไม้อ่อน ทำภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย

พาณิชย์วอนพ่อค้าคนกลาง-เกษตรกรอย่าส่งผลไม้อ่อน ทำภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย

นางศรีรัตน์ รัฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงสินค้าผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งของไทยว่า  ปี2556 กรมฯตั้งเป้าหมายการส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 10% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,561 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (45,200 ล้านบาท)โดยการส่งออก 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ. 2556) ของปีนี้  มีปริมาณ 258,573 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 186 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ( 5,386 ล้านบาท)หรือ เพิ่มขึ้น 20 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.5%  ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย

ทั้งนี้แยกเป็นรายสินค้าพบว่า  สินค้าผักสด แช่เย็น  แช่แข็ง และแห้ง มีมูลค่าการส่งออกลดลง  17%  คิดเป็นมูลค่า 38  ล้านเหรียญสหรัฐฯ(1,127 ล้านบาท) ปริมาณ 32,166  ตัน ในส่วนสินค้าผลไม้สด แช่เย็น    แช่แข็ง และแห้ง มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 36 % โดยมีมูลค่ากว่า 148  ล้านเหรียญสหรัฐฯ (4,459 ล้านบาท) ปริมาณ 226,407 ตัน   ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่  จีน ฮ่องกง เวียดนาม ญี่ปุ่น และ สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนรวมกว่า 78 % โดยตลาดอื่นที่มีอัตราการขยายตัวสูง ได้แก่  ออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 65% ปากีสถาน 130% เนเธอร์แลนด์ 138% เป็นต้น 

“ผลผลิตผักผลไม้ของไทยมีความหลากหลายและต่อเนื่องตลอดทั้งปี  ทำให้มีความได้เปรียบด้านประเภทสินค้า และมีความยืดหยุ่นด้านปริมาณการส่งออก จึงทำให้ผลไม้ของไทยเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในต่างประเทศ”นางศรีรัตน์ กล่าว

กรณีการส่งออกทุเรียนอ่อนด้วยกลโกงของพ่อค้าคนกลางและเกษตรกรบางกลุ่ม เพื่อสร้างข่าวทุเรียนอ่อน หวังกดราคารับซื้อในภายหลังตามที่เป็นข่าวนั้น ถือเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของสินค้าไทย จึงขอความร่วมมือเกษตรกร อย่าแอบตัดทุเรียนที่ยังแก่ไม่เต็มที่ออกสู่ตลาด เพื่อหวังได้ราคาจากการจำหน่ายช่วงต้นฤดูกาล เนื่องจากประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน(เออีซี) จึงควรร่วมมือกัน เพื่อยกระดับสินค้าให้เข้าสู่มาตรฐานสากล ดำเนินนโยบายการตลาดที่เป็นธรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตสินค้าคุณภาพสูง

สำหรับการส่งออกทุเรียนสด แช่เย็นในปี 2555 มีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 2 รองจากลำไย คิดเป็นมูลค่า 201 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 29% เฉพาะ 2 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกไปแล้ว 21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้น 246% และคาดว่าช่วงมี.ค.-เม.ย.2556 จะมีปริมาณการผลิตและส่งออกเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามการเพิ่มศักยภาพทางการค้าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อลดปัญหาและอุปสรรคต่างๆ  อาทิ สภาพความแปรปรวนของอากาศ  ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ  ความเข้มงวดในกฎระเบียบให้มีการตรวจเข้มสินค้าผักไทยของตลาด เพื่อตรวจยาฆ่าแมลงตกค้าง การปนเปื้อนทางจุลชีววิทยา และแมลงศัตรูพืช  พื้นที่เพาะปลูกมีขนาดเล็ก  ทำให้ต้นทุนการจัดการและควบคุมคุณภาพการผลิตมีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง  เช่น ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย

“กรมฯจะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบการผลิตให้ได้มาตรฐาน ส่งเสริมให้มีการสร้างแบรนด์ของผลไม้ไทย โดยเน้นเรื่องเอกลักษณ์ด้าน     คุณค่าและสายพันธุ์ ที่โดดเด่นของผลไม้ไทย  ส่งเสริมการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถยืดอายุของผลผลิต และเหมาะสมกับตลาดเพื่อการส่งออก และประงานงานกับหน่วยงานของรัฐควบคุมกำกับดูแลการเพาะปลูกให้ได้ปริมาณที่    เหมาะสมกับความต้องการของตลาด”นางศรีรัตน์ กล่าว