posttoday

ทรูรอด!ไม่ผิดกม.โทรคมนาคม

06 เมษายน 2556

กทค.อุ้ม "บีเอฟเคที" ตัดสินไม่ผิด ชี้แค่ให้บริการแก่ กสทฯ รายเดียว เตรียมทำเกณฑ์กำกับให้ถูกต้องใน 30 วัน

กทค.อุ้ม "บีเอฟเคที" ตัดสินไม่ผิด ชี้แค่ให้บริการแก่ กสทฯ รายเดียว เตรียมทำเกณฑ์กำกับให้ถูกต้องใน 30 วัน

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กทค.วาระพิเศษ เมื่อวันที่ 5 เม.ย. มีมติ 4 ต่อ 1 ว่า บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของค่ายทรู ไม่มีความผิด และไม่เข้าข่ายเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544

ทั้งนี้ บริษัท บีเอฟเคที ได้ทำสัญญาการให้บริการโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่บนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ กับบริษัท กสท โทรคมนาคม

นอกจากนี้ ได้พิจารณาจากคำนิยามตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ที่ระบุว่า การประกอบกิจการโทรคมนาคม หมายถึง การประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นการทั่วไป แต่บริษัท บีเอฟเคที ไม่เข้าข่ายดังกล่าว เพราะให้บริการเช่าและจัดหาซื้ออุปกรณ์โทรคมนาคมให้แก่บริษัท กสทฯ เพียงรายเดียวเท่านั้น ไม่ได้ให้บริการแก่บริษัทรายอื่นทั่วไป ดังนั้น กทค. จึงไม่มีความจำเป็นต้องเอาผิด กล่าวโทษ แก่ บริษัท บีเอฟเคที

อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้สำนักงาน กสทช. ออกประกาศร่างหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อกำกับการดำเนินการของบริษัท บีเอฟเคที โดยใช้ พ.ร.บ.วิทยุโทรคมนาคม พ.ศ. 2498 ในเรื่องการอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์และมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.โทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ในการกำหนดประเภทโครงข่ายมาตรฐานทางเทคนิคในการให้บริการ และนำมาเสนอ กทค. ภายในเวลา 30 วัน ทั้งนี้ การตัดสินดังกล่าวไม่กังวลว่าจะเกิดการฟ้องร้องตามมา

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า จะทำหนังสือเป็นคำสั่งทางปกครองถึงบริษัท กสทฯ เพื่อให้แก้สัญญาระหว่างบริษัท บีเอฟเคที และบริษัท กสทฯ ให้สอดคล้องกับมาตรา 46 พ.ร.บ.กสทช. พ.ศ. 2553 ที่ให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมเป็นผู้ดำเนินการบริหารโครงข่ายเอง ถ้าไม่ปฏิบัติตามมีโทษถึงเพิกถอนใบอนุญาต โดยกรณีดังกล่าวเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมาย แต่ไม่ผิดกฎหมาย ถ้าไม่ออกหลักเกณฑ์มาบังคับจะมีผู้ประกอบการรายอื่นทำตามได้