posttoday

ชงลดค่าไฟลง20บาท/บิล

18 มีนาคม 2556

เรกูเลเตอร์ จ้าง มธ. ศึกษาแนวทางลดค่าบริการไฟฟ้า คาดได้ข้อสรุป ก.ค.นี้ ชี้อาจลดได้ 20 บาทต่อบิลต่อเดือน

เรกูเลเตอร์ จ้าง มธ. ศึกษาแนวทางลดค่าบริการไฟฟ้า คาดได้ข้อสรุป ก.ค.นี้ ชี้อาจลดได้ 20 บาทต่อบิลต่อเดือน

นางพัลลภา เรืองรอง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ เรกูเลเตอร์ กล่าวว่า ขณะนี้ กกพ.ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เพื่อเข้ามาศึกษาต้นทุนค่าบริการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ว่าจะสามารถลดการจัดเก็บค่าบริการจากปัจจุบันที่รวมอยู่ในบิล 38 บาทต่อเดือน ให้ลดลงได้อีกหรือไม่ ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นในขณะนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะลดค่าบริการได้ประมาณ 20 บาทต่อบิลต่อเดือน

ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเรื่องการปรับลดค่าบริการ รวมทั้งการพิจารณาปรับปรุงค่าไฟฟ้าฐานให้ลดลงจาก 3.20 บาทต่อหน่วย เพื่อช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายประชาชนภายในเดือน ก.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของค่าไฟฟ้าฐานยอมรับว่าคงไม่สามารถปรับลดลงได้มากนัก โดยอาจลดลงได้ไม่กี่สตางค์

นางพัลลภา กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการเรียกขอข้อมูลต้นทุนค่าบริการจากทั้งสองแห่ง โดย กฟภ.ได้ส่งข้อมูลมาให้ กกพ.แล้ว แยกเป็นต้นทุนการอ่านมิเตอร์ การจ้างพนักงานเก็บค่าไฟ ค่าใช้จ่ายการออกบิลค่าไฟ และค่าบริการคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งพบว่าต้นทุนค่าจ้างพนักงานเก็บค่าไฟยังซ้ำซ้อนกับการที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องไปเสียค่าธรรมเนียมกับจุดจ่ายค่าบริการ อาทิ เคาน์เตอร์เซอร์วิส ดังนั้นจึงพิจารณาหักส่วนนี้ออกได้

สำหรับในส่วนของ กฟน.นั้น ยังไม่ได้นำส่งข้อมูล แต่ก็คาดว่าจะสามารถลดค่าบริการได้มากกว่า เพราะค่าใช้จ่ายในการจ้างเจ้าหน้าที่เดินเก็บค่าไฟฟ้าต่ำกว่าของ กฟภ. โดยเมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว กกพ.มีอำนาจที่จะประกาศอัตราค่าบริการใหม่ให้ทั้งสองการไฟฟ้าไปดำเนินการตามได้ทันที

นางพัลลภากล่าวถึงกรณีในช่วงวันที่ 5-14 เม.ย. ที่ผู้ผลิตก๊าซในสหภาพเมียนมาร์ไม่สามารถส่งก๊าซให้กับไทยเนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงว่า ต้นทุนการสำรองดีเซลและน้ำมันเตาที่เพิ่มขึ้นในช่วงดังกล่าว ต้องไม่เป็นภาระค่าไฟฟ้าที่ตกถึงประชาชน ซึ่งกระทรวงพลังงานต้องบริหารจัดการความต้องการใช้ (ดีมานด์ไซด์) ให้เหมาะสม ซึ่งการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนให้หยุดการผลิต หรือการรณรงค์ให้ภาคประชาชน ห้างสรรพสินค้าลดการใช้ไฟฟ้า ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง

นอกจากนี้ เห็นว่ากระทรวงพลังงานควรทบทวนการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซธรรมชาติจากฝั่งตะวันออกใหม่ โดย กกพ.ได้เสนอให้ดึงก๊าซที่มีจำนวนกว่า 960 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน มาใช้กับโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะการใช้ก๊าซกับโรงไฟฟ้าบางพื้นที่ เช่น บางปะกง ระยอง ส่งผลให้ต้นทุนต่อหน่วยไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 3 บาทต่อหน่วย แต่หากใช้กับโรงไฟฟ้าบางแห่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือขายก๊าซให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย (เอสพีพี) ที่ยังมีกำลังการผลิตเหลืออยู่ จะสามารถลดต้นทุนลงมาเหลือ 2 บาทกว่าต่อหน่วยได้

ทั้งนี้ นางพัลลภา กล่าวว่า กกพ.ได้เสนอแนวทางให้นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน พิจารณาแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า