posttoday

รฟม. แจงข้อเท็จจริงเวนคืนที่ดินตลิ่งชัน – มีนบุรี

08 มีนาคม 2556

รฟม. ชี้แจงข้อเท็จจริงเวนคืนที่ดินก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน – มีนบุรี

รฟม. ชี้แจงข้อเท็จจริงเวนคืนที่ดินก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน – มีนบุรี

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)  เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีประชาชนบางจุดที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรีรวมตัวกันแสดงความเห็นคัดค้าน รวมถึงการวิจารณ์ รฟม. และบริษัท ที่ปรึกษา ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ดังนั้น จึงต้องการชี้แจงข้อเท็จจริงและแนวทางการแก้ไขปัญหาในประเด็นต่างๆ
  
สำหรับการออกแบบสถานีและทางขึ้นลง เป็นไปตามความเหมาะสม ข้อจำกัดและความจำเป็นทางเทคนิค ไม่มีวัตถุประสงค์แอบแฝงอื่นใด และได้กำหนดพื้นที่สำหรับก่อสร้างสถานี ทางขึ้นลง และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสารไว้แล้ว
  
ทั้งนี้  ในแต่พื้นที่จะมีข้อจำกัดทางเทคนิคต่อการออกแบบและวิธีก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินและตัวสถานีแตกต่างกัน เช่น สถานีราชปรารภ เนื่องจากถนนราชปรารภมีความกว้างผิวจราจร 18 เมตร โดยมีเขตทางถนนรวมทางเท้ากว้าง  24-27 เมตร ในขณะที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน มีความยาว 228 เมตร มีความกว้าง 28 เมตร ทำให้ต้องก่อสร้างกินพื้นที่ตึกแถวด้านตะวันออก หรือด้านขวาของถนนตลอดความยาวสถานี ขณะที่การก่อสร้างสถานีใต้ดินต้องขุดเปิดหน้าดินแล้วกลบ  (Cut & Cover) ต้องสร้างกำแพงกันดิน (Diaphragm Wall) อีก 2 จุด สำหรับนำเครื่องจักรเข้าไปก่อสร้าง
 
นอกจากนี้ บริเวณดังกล่าวมีอุโมงค์ระบายน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายใน 2.50 เมตร   ตามแนวถนนราชปรารภ เบี่ยงไปด้านตะวันออก หรือด้านขวาของถนนราชปรารภ การก่อสร้างจึงต้องให้แทรกอยู่ระหว่างอุโมงค์ซึ่งการก่อสร้างคล่อมแบบนี้ก็ต้องขุดเปิดหน้าดินแล้วกลบเช่นกัน
  
สำหรับเส้นทางรถไฟฟ้าจากถนนเพชรบุรีจะเลี้ยวซ้าย ไปทางด้านเหนือเข้าถนนราชปรารภต่อไปยังซอยรางน้ำ  ซึ่งลักษณะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินปกติจะมีวงเลี้ยวกว้าง และหากเลี้ยวชันมากไป จะทำให้ค่าใช้จ่ายการเดินรถสูง และจะจำกัดความยาวของขบวนรถด้วย ดังนั้นอุโมงค์รถไฟฟ้าดังกล่าวจะกินพื้นที่ 2 จุด คือ (1) หัวมุมแยกประตูน้ำ และ (2) ด้านตะวันออก หรือด้านขวาของ ถนนราชปรารภ  โดยอุโมงค์ส่วนนี้จะผ่านสถานีราชเทวี ผ่านสถานีประตูน้ำ ถึงสถานีราชปรารภจะเป็นแบบขุดเปิดหน้าดินแล้วกลบตลอดแนวถนนทั้ง 3 สถานีเช่นกัน เพื่อให้สร้างอุโมงค์ไปและกลับชิดกันได้ มิฉะนั้นจะต้องเวนคืนพื้นที่เพิ่ม
  
นายยงสิทธิ์ กล่าวว่า การก่อสร้างแบบขุดเปิดหน้าดินแล้วกลบสามารถแบ่งสัญญาใช้หลายบริษัทก่อสร้างได้พร้อมกันทำให้สร้างเสร็จเร็วขึ้นได้ ลดระยะเวลาและปัญหาการจราจรระหว่างก่อสร้าง
  
"จะเห็นได้ว่า การออกแบบและวิธีก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินและตัวสถานีราชปรารภเป็นวิธีที่พยายามลดผลกระทบด้านการเวนคืนในภาพรวม ลดต้นทุนและเวลาการก่อสร้าง และลดค่าใช้จ่ายการเดินรถไฟฟ้าในระยะยาวเต็มที่ที่สุดแล้ว"นายยงสิทธิ์ กล่าว