posttoday

ปลื้มใจไฟไม่ดับ จัดถ่ายทอดสด5เม.ย.

02 มีนาคม 2556

3มาตรการที่รัฐบาลเชื่อว่าไฟไม่ดับ 5 เม.ย. รณรงค์ให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมและประชาชนลดการใช้ไฟฟ้า เพิ่มสัดส่วนซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และขอความร่วมมือกับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่และรายเล็กเพิ่มการขายไฟฟ้าเข้าระบบ

3มาตรการที่รัฐบาลเชื่อว่าไฟไม่ดับ 5 เม.ย. รณรงค์ให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมและประชาชนลดการใช้ไฟฟ้า เพิ่มสัดส่วนซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และขอความร่วมมือกับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่และรายเล็กเพิ่มการขายไฟฟ้าเข้าระบบ

ผ่านไปเพียง 2 สัปดาห์ หลังจากที่ พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ออกมาระบุว่า ไทยอาจต้องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน จากการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติของพม่า และเสี่ยงที่จะเกิดไฟดับ ไฟตก ในบางพื้นที่ วันที่ 5 เม.ย.นี้

ล่าสุด พงษ์ศักดิ์ ออกมาระบุว่า จะไม่เกิดไฟฟ้าดับอย่างที่เป็นห่วงกันแล้ว เนื่องจากหลายฝ่ายได้ร่วมรณรงค์การลดใช้พลังงานในช่วงการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยานาดา สหภาพพม่า ระหว่างวันที่ 5-14 เม.ย.

ทั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รายงานว่า ปริมาณสำรองไฟฟ้าในช่วงก๊าซธรรมชาติของพม่าหยุดจ่าย ได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,000 เมกะวัตต์ จากเดิมที่คาดว่าจะเหลือเพียง 750 เมกะวัตต์ ขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ในวันที่ 5 เม.ย. อาจต่ำกว่าที่กำหนดไว้ 2.63 หมื่นเมกะวัตต์ เพราะหลังจากมีข่าวออกไป ทุกภาคส่วนได้ให้ความร่วมมือลดใช้พลังงานทั้งประชาชน ห้างสรรพสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม  โดยกระทรวงพลังงานจะประชุมกับทุกฝ่ายภายในกลางเดือน มี.ค. เพื่อประมวลสถานการณ์ ตลอดจนติดตามตัวเลขการลดใช้พลังงานอีกครั้ง

ปลื้มใจไฟไม่ดับ จัดถ่ายทอดสด5เม.ย.

นอกจากนี้ จากการเดินทางไปมาเลเซียร่วมกับคณะของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ก.พ. นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้เสนอให้ไทยร่วมลงทุนโครงการท่อขนส่งน้ำมัน จากโรงกลั่นน้ำมันในรัฐเกดะห์ มาเลเซีย มายัง จ.สงขลา ของไทย ประกอบไปด้วยท่อขนส่งน้ำมันดิบขนาด 1 ล้านบาร์เรล/วัน และน้ำมันเบนซิน 5 แสนบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นท่อเชื่อมระหว่างฝั่งอันดามันอ่าวไทย สามารถส่งน้ำมันจำหน่ายไปยังประเทศด้านตะวันออกที่มีระยะทางไกล ช่วยลดปัญหาการจราจรคับคั่งในช่องแคบมะละกา ที่มีการขนส่งน้ำมันอยู่วันละ 12 ล้านบาร์เรล จากปริมาณความจุขนส่งเพียง 20 ล้านบาร์เรล/วันเท่านั้น

ทางมาเลเซียยังได้เสนอว่า โครงการนี้น่าจะเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท ปตท. และผู้ร่วมทุนของมาเลเซีย คือ ปิโตรนาส และเอสเคเอส ซึ่งฝ่ายไทยได้แจ้งไปว่า โครงการร่วมทุนระหว่างประเทศเช่นนี้มีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการมาก โดยเฉพาะการรับฟังความเห็นจากประชาชน และต้องเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 190

ขณะเดียวกัน มาเลเซียยังเสนอขายไฟฟ้าถ่านหินในระยะยาวจากโรงไฟฟ้าขนาด 1,600 เมกะวัตต์ แต่เมื่อประเมินจากความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้ที่ไม่สูงมาก และมีปัญหาสายส่งไฟฟ้า ทำให้อาจจะซื้อได้ประมาณ 400-600 เมกะวัตต์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานจะจัดถ่ายทอดสดทั่วประเทศ ระหว่างนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จัดงานรณรงค์ประหยัดพลังงาน วันที่ 5 เม.ย. เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนร่วมปฏิบัติการ 3 ป. ช่วยชาติ ประหยัดพลังงาน ปิดไฟ ปรับแอร์ 25 องศาเซลเซียส ปลดปลั๊ก ตั้งแต่เวลา 14.00-15.00 น. โดยคาดว่าจะลดการใช้ไฟฟ้าได้ 500-700 เมกะวัตต์

อำนวย ทองสถิตย์ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า สัปดาห์หน้า พพ.จะส่งหนังสือไปยังผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม และอาคารธุรกิจกว่า 6,000 แห่ง ที่ใช้ไฟฟ้ารวม 1 หมื่นเมกะวัตต์ ร่วมมือกันประหยัดพลังงานระหว่างวันที่ 514 เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่มีวิกฤตด้านพลังงาน ขณะเดียวกันจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 9 แห่ง ประกอบด้วย หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ศูนย์อนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดตั้ง “เครือข่าย Energy Hot Line” เพื่อเป็นศูนย์บริการสายด่วนให้คำปรึกษาแนะนำข้อมูลและคำปรึกษาด้านเทคนิคสำหรับมาตรการอนุรักษ์พลังงาน และประหยัดพลังงานในโรงงานและอาคารธุรกิจ เริ่มให้บริการระหว่างวันที่ 4 มี.ค.-11 เม.ย. 2556

ปลื้มใจไฟไม่ดับ จัดถ่ายทอดสด5เม.ย.

ณรงค์ บัณฑิตกมล รองประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.อยู่ระหว่างเร่งประชาสัมพันธ์ให้โรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. ร่วมกันประหยัดพลังงาน แต่คงไม่ใช้วิธีสลับวันหยุด เพราะการเดินเครื่องผลิตต้องมีความต่อเนื่อง จึงยากที่จะหยุดผลิต

ไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.ต้องการให้กระทรวงพลังงานเร่งระบุพื้นที่เสี่ยงที่อาจจะทำให้ไฟตกหรือไฟดับและกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิต ในช่วงที่พม่าหยุดซ่อมท่อก๊าซธรรมชาติ วันที่ 514 เม.ย. เพื่อให้ผู้ประกอบการ 25 กลุ่มอุตสาหกรรมสามารถวางแผนการผลิตและการขนส่งสินค้าได้อย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ ความเสี่ยงด้านพลังงานส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้พลังงานสูงสุดถึง 36% ของการใช้พลังงานทั้งหมดในประเทศ จึงขอให้รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่ยั่งยืน รวมทั้งป้องกันความเสี่ยงเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานอย่างต่อเนื่อง และให้รัฐเข้ามาควบคุมต้นทุนด้านพลังงานอย่างเหมาะสม โดยสนับสนุนมาตรการประหยัดพลังงาน รวมทั้งการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับการปรับการผลิตโดยการให้พนักงานทำงานล่วงเวลาเพื่อผลิตสินค้าสต๊อกไว้นั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะต้นทุนจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ