posttoday

ไอดีซีเผย10เทรนด์ดันอุตฯไอซีทีโต

13 กุมภาพันธ์ 2556

ไอดีซีเผย10เทรนด์ไอทีส่งผลกระทบต่อทิศทางอุตสากรรมไอซีที คาดปีนี้โต6.3แสนล้านบาท

โดย....พรหมเมศร์ ศิริสุขวัฒนานนท์

ตลาดไอซีทีของไทยในปีนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างยิ่ง ทางไอดีซี บริษัทวิจัยการตลาด ได้ทำการสำรวจความเคลื่อนไหวของแวดวงไอซีทีในประเทศไทย ชี้ชัดเจนว่า การเติบโตและการใช้งานทางด้านไอซีทีของประเทศไทยในปีนี้ จะมาจากแรงขับเคลื่อนหลักทั้ง 4 ประการ ได้แก่ คลาวด์ โมบิลิตี้ โซเชียล บิซิเบส และบิ๊กดาต้า

อรรถพล สาธิตคณิตกุล ผู้จัดการฝ่ายงานวิจัยและที่ปรึกษาประจำประเทศไทย ไอดีซี เปิดเผยว่า การคาดการณ์ล่าสุดของไอดีซีแสดงให้เห็นว่าตลาดไอซีทีของไทย (นับรวมทั้งไอทีและโทรคมนาคม)จะมีการเติบโตประมาณ 9.8% โดยมีมูลค่าตลาดประมาณ 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 6.3 แสนล้านบาท จากการขยายตัวดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ 10 ประการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางของอุตสาหกรรมไอซีที รวมถึงการเตรียมรับมือของทั้งคนในอุตสาหกรรมและคนทั่วไปกับปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้น

1.การใช้จ่ายด้านไอซีทีของไทยยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงใช้จ่ายด้านไอซีทีอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร อุตสาหกรรมโทรคมนาคม และกลุ่มงานภาครัฐ จะได้เห็นจากการลงทุนด้านโซลูชันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา องค์กรต้องเผชิญหน้ากับบิ๊กดาต้า และเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติง จะเป็นปัจจัยในการลงทุน ส่วนภาครัฐจะต้องลงทุนตามโครงการสมาร์ทไทยแลนด์ รวมถึงโครงข่าย 3จี ที่จะเกิดขึ้น

2.บริการไร้สายเป็นดาวเด่น

ไอดีซีคาดการณ์มูลค่าตลาดการสื่อสารและโทรคมนาคมของประเทศไทยในปี 2556 ว่า บริการด้านข้อมูลไร้สายยังคงมีการเติบโตที่สดใส เนื่องจากการให้บริการข้อมูลผ่านโครงข่ายไร้สายจากผู้ให้บริการหลักที่มีปริมาณความต้องการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับบริการข้อมูลผ่านโครงข่าย 3จี อย่างเต็มรูปแบบที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2 เป็นต้นไป คาดว่าการเติบโตในปีนี้จะสูงกว่า 14% โดยมีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท

3.รูปแบบบริการไอทีแบบครบวงจร

รูปแบบการให้บริการในปีนี้จะเปลี่ยนจากกลุ่มงานบริการที่ผูกติดกับอุปกรณ์ มาสู่รูปแบบการนำเสนอบริการที่เน้นคุณค่าของกระบวนการทางธุรกิจ และตอบโจทย์ทางธุรกิจมากขึ้น โดยลดความสำคัญของการให้บริการแบบบำรุงรักษาระบบทั่วไปลง เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดและไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ดังนั้นการสร้างมูลค่าในการให้บริการใหม่ๆ ดังกล่าวจะส่งผลดีต่อทั้งผู้ให้บริการเองในแง่ของการสร้างมูลค่าเพิ่มในการให้บริการ คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดบริการด้านไอที|ในประเทศไทยจะเติบโตได้ถึง 14.2%

4.สิ้นสุดยุคพีซี

ทั้งโน้ตบุ๊กและเดสก์ท็อป ต้องหลีกทางให้กับอุปกรณ์พกพาที่เกิดใหม่ทั้งสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต ส่งผลให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายพีซีต้องปรับตัวใช้กลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อรักษาฐานตลาดเดิมของตนไว้ ไอดีซีคาดการณ์ตลาดพีซีของประเทศไทยในปี 2556 จะขยายตัวน้อยกว่า 4% โดยมียอดจัดส่งเพียงแค่ 4 ล้านเครื่อง

5.ตลาดสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตกลายเป็นสมรภูมิรบใหม่

ความพร้อมของการให้บริการ 3จี จะทำให้ตลาดสมาร์ตโฟนในปี 2556 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้สูงถึง 40% ด้วยยอดจัดส่งทั้งหมด 7.3 ล้านเครื่อง ส่วนตลาดแท็บเล็ตเองก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตในอัตราใกล้เคียงกัน ซึ่งหมายถึงยอดจัดส่งทั้งหมด|ไม่ต่ำกว่า 3.5 ล้านเครื่องในปีนี้ การเติบโตยังมาพร้อมการแข่งขันที่รุนแรง ตั้งแต่ระบบปฏิบัติการ คือ ไอโอเอสจากค่ายแอปเปิล และแอนดรอยด์จากค่ายสมาร์ตโฟนอื่นๆ จะแข่งเพื่อเป็นอันดับ 1 ในใจผู้บริโภค โดยมีวินโดวส์โฟน 8 เป็นตัวสอดแทรก

6.การใช้งานดิจิตอลคอนเทนต์เพิ่มขึ้น

กระแสความนิยมของสมาร์ตดีไวซ์ ส่งผลต่อการใช้งานสื่อดิจิตอลคอนเทนต์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์แอพพลิเคชันทางด้านธุรกิจ ด้านสันทนาการ ไปจนถึงคอนเทนต์แอพพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล จากผลการศึกษาพบว่า ทั้งกลุ่มผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตกว่า 55% นิยมดาวน์โหลดคอนเทนต์แอพพลิเคชันประเภทเกมมากเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ แอพพลิเคชันประเภทโซเชียลเน็ตเวิร์ก และเพลง เป็นอันดับที่ 2 และ 3

7.สร้างสภาพแวดล้อมส่วนบุคคล

สมาร์ตโฟน 1 เครื่องสามารถเป็นได้ทั้งอุปกรณ์จดบันทึก อุปกรณ์สื่อสารทั้งข้อมูลและเสียง ฟังเพลง แลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้งาน หรือการเข้าถึงข้อมูลมัลติมีเดียในชีวิตประจำวัน ผู้บริโภคเองยังได้มองหาอุปกรณ์เสริมตัวที่ 2 หรือพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับตนเองเพื่ออำนวยความสะดวกหรือสนับสนุนการทำงาน หรือเชื่อมต่ออุปกรณ์แต่ละประเภทเข้าด้วยกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล

8.การเติบโตของคลาวด์เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

แม้จะมีเรื่องกังวลคือ ระบบรักษาความปลอดภัยในการใช้งานและการเก็บข้อมูล จะเป็นปัจจัยตัดสินใจไปใช้คลาวด์ แต่การใช้งานพับลิกคลาวด์ก็ยังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีโครงการลงทุนระบบคลาวด์ของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะเป็นอีกแรงผลักดันและสร้างความมั่นใจใช้งาน และจะพัฒนาไปสู่การใช้ในลักษณะ Application as a Services มากขึ้น

9.การผนวกโครงสร้างพื้นฐานไอที

ด้วยระดับการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าองค์กรในการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีของตนจากสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ได้กดดันให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ต้องนำเสนอโซลูชันที่สามารถทำงานประสานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และพร้อมที่จะตอบสนองต่อความต้องการอันหลากหลายขององค์กรต่างๆ ไอดีซีคาดการณ์ว่าตลาดระบบโครงสร้างพื้นฐานจะขยายตัวได้ประมาณ 11%

10.ระบบจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาตา

บิ๊กดาตาได้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านไอทีในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลต่อความต้องการที่จะใช้ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงและซับซ้อนเริ่มเกิดขึ้นในองค์กรขนาดใหญ่และขนาดกลางได้เริ่มพิจารณาถึงประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน และกลายเป็นกลไกสำคัญในกระบวนการบริหารจัดการระบบฐานข้อมูลเพื่อให้องค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลให้ได้สูงสุด