posttoday

กสอ.งัดโครงการช่วยเอสเอ็มอีลดต้นทุน

08 กุมภาพันธ์ 2556

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม บรรเทาค่าแรง 300 บาท โชว์โมเดลความสำเร็จโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอขนาดกลางลดต้นทุนกว่า 7 ล้านบาท/ปี

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม บรรเทาค่าแรง 300 บาท โชว์โมเดลความสำเร็จโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอขนาดกลางลดต้นทุนกว่า 7 ล้านบาท/ปี    

นางศิริรัตน์  จิตต์เสรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า นโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ต้องปรับตัว เพราะค่าแรงได้ผลักดันให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายมองว่า อาจจะต้องมีการเพิ่มราคาสินค้าอย่างน้อย 18%  ถึงจะอยู่รอด แต่ในความเป็นจริงเป็นไปได้ยากในภาวะของการแข่งขันสูงในตลาด

สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก แต่มีสัดส่วนของกำไรสุทธิไม่มาก เช่น กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มอุตสาหกรรมการค้าและบริการ ซึ่งหลังการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำแล้ว ต้นทุนค่าจ้างสำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นในปี 2556 จะสูงขึ้น 25-28%

อย่างไรก็ตาม ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้พยายามคิดหามาตรการเร่งด่วน ในการช่วยเหลือส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ รวมถึงสถานประกอบการต่าง ๆ อย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น ภายใต้การจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท ต่อวัน ซึ่ง กสอ.จะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของผู้ประกอบการ เพื่อลดต้นทุนการผลิต พร้อมกับชดเชยต้นทุนด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้นผ่านโครงการต่างๆ

ด้าน นายสุพจน์ ภาวจิตรานนท์ บริษัท เซ็นทรัลเทรดดิ้ง ผู้ผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอขนาดกลาง หนึ่งในอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการกับทาง กสอ. กล่าวว่า บริษัทมีพนักงานจำนวน 650 คน โรงงานเล็งเห็นทิศทางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว รวมถึงปัญหาพนักงานขาดความรู้ในเรื่องการใช้วัตถุดิบ การทำงานไม่เป็นทีมเวิร์ค การขาดระบบ การจัดเก็บข้อมูลสถิติ ส่งผลให้โรงงานมีต้นทุนในการผลิตสูง

ทั้งนี้ ได้เข้าร่วมโครงการของ กสอ. ได้แก่ โครงการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่ SMEs ด้วยระบบ LEAN คือ ลดการสูญเปล่าที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถลดต้นทุน ลดเวลาที่ใช้ในการผลิต และเพิ่มผลกำไรสำหรับความสูญเปล่าได้  โครงการปรึกษาแนะนำเชิงลึกในอุตสาหกรรมรายสาขา (Multi Material Utilization) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเช่นการปรับปรุงโรงงาน เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตพัฒนาบุคลากรซึ่งประกอบไปด้วย ฝ่ายแรงงาน ฝ่ายเทคนิคฝ่ายบริหาร การพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ ทั้งด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ R&D

"หลังจากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว กสอ สามารถลดการสูญเสียในเรื่องของต้นทุนได้เป็นอย่างดี แรงงานเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ระบบการบริหารงานภายในเป็นขั้นตอนและมีความชัดเจนเพิ่มขึ้น สามารถลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยได้กว่า 7 ล้านบาทต่อปี จากที่เมื่อ 2 ปี ที่แล้ว โรงงานเคยให้ค่าแรงขึ้นต่ำ วันละ 215 บาท และปรับมาเป็นการจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป" นายสุพจน์กล่าว