posttoday

ขนส่งทางเรือรุ่งตามส่งออกฟื้น

06 กุมภาพันธ์ 2556

แนวโน้มธุรกิจขนส่งทางเรือปี 56 เติบโตได้จากภาคส่งออกฟื้นตัว แต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำยังต้องเร่งพัฒนา

แนวโน้มธุรกิจขนส่งทางเรือปี 56 เติบโตได้จากภาคส่งออกฟื้นตัว แต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำยังต้องเร่งพัฒนา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้มุมมองเกี่ยวกับธุรกิจการขนส่งทางเรือในปี 2556 น่าจะเติบโตดีขึ้น จากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทย หลังจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนี้หลายอุตสาหกรรมจะกลับมาผลิตได้อย่างเต็มศักยภาพ การปรับแผนธุรกิจของผู้ประกอบการผลิตยานยนต์ ที่เน้นการผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้นหลังจากสิ้นสุดนโยบายรถคันแรก คาดว่า มูลค่าการขนส่งสินค้าทางเรือในปี 2556 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 8-10% เป็น 1.29-1.33 แสนล้านบาท และปริมาณการขนส่งสินค้าทางเรือผ่านท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพประมาณ 87-89 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4-8%

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการขนส่งทางเรือ มีความเสี่ยงจากหลายด้าน อาทิ การแข่งขันของผู้ประกอบการเรือที่รุนแรงขึ้น ขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคยังไม่มากนัก ซึ่งส่งผลกับค่าระวางเรือที่ยังไม่ฟื้นตัว ผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่มีความเสี่ยงโดยเฉพาะเรือเดินสมุทรและการเข้าจอดในท่าที่ได้รับผลกระทบ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รวมทั้งเงินบาทแข็งค่าที่ส่งผลต่อการส่งออก และกระทบเป็นลูกโซ่ต่อมายังการส่งออกสินค้าทางเรือ

ขณะที่ความพร้อมในการแข่งขันของธุรกิจขนส่งทางเรือของไทยในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันยังมีประเด็นท้าทาย จากผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ปี 2012-2013 ของสถาบันการจัดอันดับ เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม พบว่า คุณภาพโครงสร้างพื้นฐานทางด้านท่าเรือของไทย ถูดจัดให้อยู่อันดับที่ 56 ของโลก ลดลงจากอันดับที่ 47 ในปี 2011-2012 ซึ่งตามหลังประเทศผู้นำอาเซียนอย่างสิงคโปร์ (อันดับที่ 2) และมาเลเซีย (อันดับที่ 21) ด้านค่าใช้จ่ายขนสินค้าส่งออกต่อ 1 ตู้คอนเทนเนอร์ของประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับสูง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2556 มีปริมาณตู้สินค้าผ่านเข้า-ออกท่าเรือแหลมฉบังประมาณ 6.3-6.6 ล้านตู้ต่อปี จากประมาณ 6 ล้านตู้ในปี 2555 และคาดการณ์ว่าจะเกินขีดความสามารถในช่วงปี 2562-2563 ที่ประมาณ 11-13 ล้านตู้ต่อปี จึงจำเป็นต้องพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เพื่อรองรับปริมาณการเติบโตของสินค้า นอกจากนี้ ต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางน้ำเพื่อรองรับ AEC  ที่ภาครัฐตั้งเป้าหมายผลักดันบทบาทให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในอาเซียน