posttoday

เตือนแพร่คลิปเลียนแบบละครดังเสี่ยงผิดกม.

04 ธันวาคม 2555

มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยเตือนแพร่คลิปเลียนแบบละครดังแรงเงา เสี่ยงผิด กม.คอมพิวเตอร์ฯ ชงกฎหมายกองทุนสื่อปลอดภัย เข้าสภา

มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยเตือนแพร่คลิปเลียนแบบละครดังแรงเงา เสี่ยงผิด กม.คอมพิวเตอร์ฯ ชงกฎหมายกองทุนสื่อปลอดภัย เข้าสภา

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา ร่วมกับเครือข่ายสื่อเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว  จัดเสวนา “สงครามคลิปในแรงเงา...เทรนด์อันตรายกับชีวิตจริงที่ต้องเท่าทัน” โดยน.ส.ศรีดา ตันทอธิพานิช  ผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย  กล่าวว่า ขณะนี้มีเครื่องมือการสื่อสารที่พัฒนาก้าวหน้า ทั้งมือถือ และอินเทอร์เน็ต ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีช่องทางปล่อยเวียนการเผยแพร่เป็นสองเท่า ทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นการสนับสนุนการเลียนแบบ  การผลิต เผยแพร่ และการกระตุ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ทุกฝ่ายจะมีความพยายามควบคุมไม่อยากให้สิ่งไม่ดีส่งต่อได้ แต่ที่ผ่านมากลับพบว่ามันยากมากที่จะควบคุมผ่านสื่อกระแสหลักต่างๆ ที่บริโภคกันทั้งทีวี วิทยุ ดารา จนกลายเป็นเรื่องตามกระแสสังคม โดยโซเชียลมีเดียฉายซ้ำ

“ในฉากของละครแรงเงา มักนำเสนอเรื่องการส่งต่อคลิป  เจาะระบบ และปล่อยคลิปประจาน แกล้งกัน ซึ่งทำโดยนางเอกที่เป็นตัวเอกของเรื่อง แสดงให้เห็นถึงชัยชนะ ความสำเร็จและความสะใจถูกชูเป็นฮีโร่ มีความชอบธรรม ที่ได้แก้แค้น ส่วนเด็กเยาวชนที่เสพสื่อเสพละครเหล่านี้ก็จะดูแค่ปลายๆ ยังไม่มีวุฒิภาวะ ไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์  จึงถือเป็นการชี้นำเด็ก ทำให้เห็นว่าการใช้ไอที ถ่ายคลิป เผยแพร่ และเข้าเจาะระบบของบุคคลอื่นเป็นเรื่องชอบธรรมที่สามารถทำกันได้ทั่วๆไป  ไม่ได้ผิดกฎหมาย”ผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยกล่าว

ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวถือเป็นการทำผิดกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการ  การเจาะระบบข้อมูล ของผู้อื่น ถือเป็นการบุกรุก ทำผิดกฎหมายโดยตรงของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยเฉพาะมาตรา 3-6 ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล  กรณีเจาะแฮคข้อมูล เพื่อนำคลิปไปเผยแพร่ประจาน เข้าข่ายผิดกฎหมายอย่างชัดเจน มีบทลงโทษทั้งจำทั้งปรับ  ซึ่งมีกฎหมายโดยตรงอยู่แล้วในการคุ้มครองบุคคลที่เสียหาย  ยังสามารถฟ้องร้องหมิ่นประมาทได้ เพราะเรื่องการเผยแพร่คลิปไม่ใช่เรื่องที่รับรู้กันแค่คนสองคนแต่หมายถึงคนทั้งประเทศหรือคนทั้งโลก

ด้าน น.ส.เข็มพร  วิรุณราพันธ์  ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายาม ผลักดันบทบาทกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ฉบับประชาชน เข้าสู่สภาให้เป็นกฎหมายอย่างเร็วที่สุด เพื่อการทำให้สื่อมีความปลอดภัยกับเด็กและเยาวชนไทย  ซึ่งในต่างประเทศเขาจะมีกองทุนนี้โดยตรง  เป็นการสร้างพื้นที่สื่อดีๆให้กับเด็กและครอบครัวได้เข้าถึงการมีส่วนร่วม พัฒนาสอดคล้องกับชุมชน ซึ่งขณะเดียวกันเราสนับสนุน เสริมสร้างกิจกรรมต่างๆเปิดพื้นที่สื่อดี โดยเฉพาะขณะนี้จากข้อมูลโดยตรง ที่ผู้ปกครอง ครู ต่างกังวลเรื่องการรับสื่อของเด็กเยาวชน ที่พัฒนาไปเร็วมาก เราจึงต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้รู้เท่าทันสื่อ  รวมไปถึงเรื่องคลิปด้วย  เพราะนี้เป็นวิธีเดียวเท่านั้นถึงจะป้องกันเด็กจากพิษภัยสื่อได้ 

นายจะเด็จ  เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล  กล่าวว่า กรณีที่มีผู้ที่ถูกกระทำจากการใช้สื่อ ใช้คลิป  ต้องตกเป็นเหยื่อ เช่นถูกแอบถ่าย  แล้วส่งต่อ หรือถูกแบล็คเมล์ข่มขู่  จึงอยากเสนอให้ร่าง พ.ร.บ.กองทุนสื่อฯฉบับประชาชน   กำหนดเพิ่มเนื้อหา  ให้มีกลไกสนับสนุนการช่วยเหลือ  เยียวยาฟื้นฟู  หรือให้คำปรึกษากับผู้ที่ถูกกระทำจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย