posttoday

4G ที่โตเกียว

29 พฤศจิกายน 2555

อันที่จริงแล้วอาจไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงเมืองโตเกียวประเทศญี่ปุ่นด้วยซ้ำ เพราะข้างบ้านเราก็มี 4G ให้ใช้กันแล้ว

โดย...โยโมทาโร่

อันที่จริงแล้วอาจไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงเมืองโตเกียวประเทศญี่ปุ่นด้วยซ้ำ เพราะข้างบ้านเราก็มี 4G ให้ใช้กันแล้ว

ส่วนเหตุผลที่บ้านเรายังค้างเติ่งก็คงเป็นอย่างที่เราทราบกันดี เรื่องความขัดแย้งทางการเมืองและผลประโยชน์ที่ผูกติดกับกลุ่มธุรกิจหนุนเบื้องหลัง รวมทั้งข้อกฎหมายที่กลายเป็นดาบสองคม ด้านหนึ่งมีไว้เพื่อป้องกันการทุจริต แต่อีกด้านก็กลายมาเป็นการชะลอการพัฒนาประเทศและเป็นเครื่องมือของกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ไปในตัว

แต่เอาล่ะ วันนี้เราจะไปกันที่โตเกียว ซึ่งทางทีโอทีจัดพาสื่อมวลชนเดินทางไปสัมผัสประสบการณ์ 4G ถึงประเทศญี่ปุ่น เพื่อดูว่าประเทศที่ใช้ระบบ 4G มา 2 ปีกว่าแล้วนั้นเป็นอย่างไร เขาพัฒนาและประสบปัญหาอะไรบ้าง แต่ก่อนอื่นเรามาปรับความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยี 4G กันก่อนว่า แท้จริงแล้ว 4G หรือ (Fourth Generation) นั้นคืออะไร

เทคโนโลยี 4G ออกแบบมาให้ใช้งานด้วยการรับส่งข้อมูลดิจิตอลเต็มรูปแบบ 100% โดยแทบจะไม่มีการส่งข้อมูลเสียงเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นประเทศที่หันมาใช้ระบบ 4G อย่างญี่ปุ่นนั้น จึงใช้สลับกันระหว่างระบบ 4G เพื่อส่งข้อมูลความเร็วสูง และใช้ช่วงคลื่น 3G ในแบบวอยซ์และดาตาเมื่ออยู่นอกพื้นที่ให้บริการ 4G ในเขตเมือง ผ่านเครื่องสมาร์ตโฟนที่รองรับระบบ LTE (Long Term Evolution) ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่ที่ให้สมาร์ตโฟนสามารถใช้งานได้ทั่วโลก แม้ว่าประเทศนั้นจะไม่มี 3G หรือ 4G รองรับก็ตาม เราถึงเห็นคำว่า 4G LTE นั่นเอง

เมื่อเทคโนโลยี 4G ของญี่ปุ่นเป็นในรูปแบบการส่งข้อมูลความเร็วสูง ซึ่งตามทฤษฎีแล้วสามารถทำได้ถึง 100 เมกะบิต ในขณะที่ 3G นั้นทำได้สูงสุดตามทฤษฎีเพียง 42 เมกะบิต 4G จึงถูกใช้ในอุปกรณ์อย่างดอนเกิล (Dongle), ไมไฟ (MiF) สำหรับเครื่องโน้ตบุ๊กตามบ้านเป็นหลักมากกว่า เพราะความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ได้นั้นเทียบเท่ากับการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสายโทรศัพท์ตามบ้านที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้เลยทีเดียว

ความเร็วของเขาโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 8 เมกะบิต ไปจนถึง 24 เมกะบิต ส่วนความเร็วขณะเคลื่อนที่บนรถไฟฟ้านั้นอยู่ที่ประมาณ 1-3 เมกะบิต ผันแปรขึ้นลงตามความหนาแน่นในการใช้งานของผู้ใช้บริการ อาจจะไม่เร็วเท่าตามทฤษฎีกำหนด แต่ชาวญี่ปุ่นจึงสามารถเรียกดูคอนเทนต์บนยูทูบได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการชมภาพยนตร์ที่ความละเอียดระดับ 1080P Full HD ได้แบบไม่ต้องรอนาน ไม่มีอาการค้างหรือภาพกระตุกแม้แต่น้อย เรื่องการดาวน์โหลดมาเก็บไว้ที่ฮาร์ดดิสก์ส่วนตัว หรือการหาซื้อแผ่นเก็บไว้ดูเองก็แทบจะไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะเขาสามารถเรียกเนื้อหามาชมเมื่อไหร่ก็ได้

ส่วนการโทรสนทนาเสียงนั้น จากการสอบถามชาวญี่ปุ่นบอกว่าจะเป็นการใช้สลับกันระหว่าง 3G และ 4G ความเร็วที่ได้ถือว่าน่าพอใจมาก เพราะพวกเขาสามารถดาวน์โหลดคอนเทนต์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วในเวลาประมาณ 45 วินาที คลิปวิดีโอขนาด 100 เมกะไบต์ ก็ถูกโหลดมาอยู่บนเครื่องสมาร์ตโฟนของเขาแล้ว

4G ที่โตเกียว

 ความเร็วขนาดนี้พวกเขาทำได้อย่างไร จุนิชิ มิยาซาวา รองประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี ซอฟต์แบงก์ โมบาย คอร์ป ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเอกชนรายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ บอกว่า พวกเขาทุ่มทุนติดตั้งสถานีฐานย่อยมากถึง 2,000 สถานีฐานต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ในเขตโตเกียวและหัวเมืองใหญ่ต่างๆ เพื่อรองรับปริมาณรับส่งข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ อีกทั้งยังคาดการณ์กันว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นแตะระดับการใช้ปริมาณรับส่งข้อมูล 1 กิกะไบต์ต่อคนต่อวัน แล้วลองคิดดูว่าผู้ใช้เกือบ 100 ล้านคนในญี่ปุ่น จะมีข้อมูลมากมายขนาดไหน โอเปอเรเตอร์ทั้งหลายต้องระดมติดตั้งสถานีฐานกระจายสัญญาณ ทั้งภายในและนอกอาคารกันชนิดที่เรียกว่า มองไปทางไหนก็เห็นแต่สถานีฐานขนาดเล็กติดตั้งอยู่เต็มดาดฟ้าแทบทุกตึก หลังคาบ้านไหนยอมให้ติดก็ต้องแย่งกันไปติดเลยทีเดียว

ส่วนโทรศัพท์มือถือที่รองรับระบบ 4G LTE ที่วางขายในประเทศญี่ปุ่น ก็มีให้เลือกมากมายหลายรุ่น คนที่บอกว่าใช้ 4G แล้วมีไม่กี่รุ่นที่รองรับ ผมบอกได้เลยว่าคนไทยเราขอให้กังวลเรื่องการประมูล 3G กับ 4G จะดีกว่า เพราะผู้ผลิตเขาก็แค่เปลี่ยนชิปที่อยู่ข้างในไม่กี่ตัว ก็ได้เครื่องรุ่นใหม่ออกมารองรับ 4G กันแล้ว

อย่างเช่น โซนี่ ก็ออกรุ่น Sony Xperia TL สเปกข้างในก็ไม่ได้ต่างจาก 3G มาก แค่เพิ่มการรองรับ LTE พร้อมกล้อง 16 ล้านพิกเซลเท่านั้นเอ๊ง...ในขณะที่ซัมซุงกับแอลจีก็ออกรุ่นที่รองรับ LTE มาให้เลือกซื้อ แต่ด้วยสถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างประเทศ ทำให้ชาวญี่ปุ่นไม่นิยมแบรนด์เกาหลีเท่าไหร่นัก อีกทั้งสินค้าแบรนด์ญี่ปุ่นเองก็ได้มาตรฐานดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสินค้าต่างประเทศเลย

ทุกวันนี้ชาวญี่ปุ่นจึงใช้ระบบ 4G กันอย่างสบายอกสบายใจ เพราะแค่เสียค่าบริการรายเดือนแบบอันลิมิตเต็ด ก็สามารถโทรหาเพื่อนที่ใช้สมาร์ตโฟนด้วยกันผ่านทางสไกป์ ไลน์ หรือโปรแกรม VOIP (Voice Over Internet Protocal) อื่นๆ ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่หากไม่เป็นเรื่องด่วนที่ต้องคุย ณ เวลานั้น ก็จะนิยมการส่งข้อความหรืออีเมลกันมากกว่า เพราะเขาจะได้ใช้เวลาที่เหลือไปทำงานต่อ

แต่บอกไว้ก่อนเลยว่า หลังที่เราได้ใช้ 3G และ 4G ชีวิตการทำงานของคนรุ่นใหม่จะแข่งขันกันสูงขึ้น เร็วขึ้น และเครียดมากขึ้น เพราะออฟฟิศจะติดตัวเราไปทุกที่ เช่น เวลาเริ่มงานของชาวญี่ปุ่นจะเริ่มตั้งแต่เวลานั่งรถไฟมาทำงาน พวกเขาจะเช็กอีเมลและตอบกลับก่อนเวลาตอกบัตรด้วยซ้ำ และพวกเขาจะเลิกงานดึกเพื่อให้ได้งานที่มากกว่าคู่แข่งในวันถัดไป คอมพิวเตอร์จะได้รับความนิยมน้อยลง แท็บเล็ตจะเข้ามาแทนโน้ตบุ๊ก เพราะสามารถทำงานได้สะดวกกว่าในทุกๆ ที่