posttoday

ธนาคารออนไลน์ ธุรกรรมสะดวก-ไม่เสี่ยง?

22 พฤศจิกายน 2555

เดี๋ยวนี้การทำธุรกรรมทางการเงินพื้นฐานทำได้ด้วยการคลิกที่ปลายนิ้ว การทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์ก็ยังเติบโตได้อีกไกล

โดย...พรหมเมศร์ ศิริสุขวัฒนานนท์

เดี๋ยวนี้การทำธุรกรรมทางการเงินพื้นฐาน ฝาก โอน ถอน หลายคนไม่ต้องไปถึงธนาคารกันแล้ว นั่งอยู่ที่ออฟฟิศ นอนอยู่ที่บ้าน หยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมากดไม่กี่ครั้ง ทุกอย่างก็เรียบร้อยได้แบบง่ายๆ แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่มากกว่า 70% ยังชื่นชอบและนิยมการพบหน้า การพูดคุยกับพนักงาน และได้สัมผัสเงินที่เป็นธนบัตร หรือเหรียญจริงๆ แต่ถ้าย้อนกลับไปกว่าสิบปีที่แล้ว การเริ่มต้นใช้ตู้กดเงินสดเอทีเอ็มในไทย ก็มีคนใช้เพียงน้อยนิด และค่อยๆ เป็นที่แพร่หลายในเวลาต่อมา ดังนั้นเมื่อในเวลานี้ที่การใช้เงินพลาสติกเป็นที่ยอมรับมากขึ้น การจับจ่ายค่าสาธารณูปโภค หรือการซื้อขายสินค้า ทำได้ด้วยการคลิกที่ปลายนิ้ว การทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์ก็ยังเติบโตได้อีกไกล

ในต่างประเทศมีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกันเป็นเรื่องปกติ จะจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ผ่อนบ้าน ค่ามือถือ เข้าซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านสะดวกซื้อ แม้แต่การซื้อน้ำเปล่าขวดหนึ่ง ก็จ่ายผ่านบัตรเครดิตได้และใช้วิธีการกดรหัสพิน 4 หลัก แทนการเซ็นชื่อ หรือบางประเทศก็ใช้ลักษณะของบัตรเงินสด ซึ่งมีความสะดวกและปลอดภัยมากกว่าการใช้เงินสด ยิ่งการซื้อขายสินค้าออนไลน์ผ่านอีคอมเมิร์ซได้รับความนิยมมากขึ้น ไม่ต้องออกจากบ้าน ก็สามารถซื้อขายสินค้าและรอรับการจัดส่งมาได้ การรับจ่ายเงินก็ทำได้ทันที โดยไม่ว่าจะใช้คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือ สมาร์ตโฟน ก็เป็นเรื่องของช่องทางในการเข้าถึงเท่านั้น แต่ด้วยช่องทางใหม่นี้เอง จะเป็นการแข่งขันครั้งใหม่ของธนาคารต่างๆ เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้งานมากขึ้น

รุ่งเรือง สุขเกิดกิจพิบูลย์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส สาย Customer Segment ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า การให้บริการของธนาคารบนเว็บไซต์ มีการพัฒนามาในระยะเวลา 5 ปีมานี้ รูปแบบของบริการมีความหลากหลาย ตั้งแต่บริการพื้นฐานจนถึงเรื่องการซื้อขายกองทุน เรียกได้ว่าไม่ต้องมาธนาคารก็ทำทุกอย่างได้ แต่จำกัดอยู่ที่ต้องมีคอมพิวเตอร์เท่านั้น ตอนนี้คนใช้สมาร์ตโฟนกันมากขึ้น มีปริมาณ 30% ของประชากรในประเทศไทย ดังนั้นต้องย้ายบริการบนโลกออนไลน์มาอยู่บน|โมบาย เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้ให้บริการได้มากขึ้น

“ความแตกต่างของบริการบนอุปกรณ์พกพากับบนคอมพิวเตอร์คือ อุปกรณ์พกพามีหน้าจอขนาดไม่ใหญ่ ดังนั้นต้องคัดเฉพาะบริการที่จำเป็นหลักๆ จริงๆ เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน ไม่ซับซ้อนมากนัก แต่ผู้ใช้แต่ละคนก็มีบริการที่แตกต่างกันไป ดังนั้นธนาคารจึงควรคัดเลือกบริการหลัก 8-10 บริการหลักมา แต่ผู้ใช้สามารถปรับเลือกได้ตามความต้องการ อาจจะเลือกที่ใช้งานบ่อยจริงๆ 4-5 บริการมาไว้ ไม่ต้องพิมพ์เยอะ แค่กดไม่กี่ครั้ง ก็ดำเนินการได้” รุ่งเรือง กล่าว

อีกส่วนคือ เรื่องของโครงข่ายการให้บริการในประเทศไทย ที่มีความเร็วจำกัดและในบางพื้นที่ก็ไม่สามารถเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ด้วยด้วยข้อจำกัดต่างๆ ดังนั้นหากจะใช้งานผ่านอุปกรณ์โมบาย จึงต้องรองรับการใช้บริการผ่านไวไฟได้ด้วย ซึ่งเรื่องของความปลอดภัยนั้น สามารถป้องกันได้ที่ระบบของธนาคาร รวมถึงวิธีการเข้ารหัสเพื่อทำธุรกรรม ซึ่งหากสามารถใช้งานผ่านช่องทางไร้สายต่างๆ ได้ การทำธุรกรรมผ่านทางโมบายจะขยายตัวแบบหยุดไม่อยู่ ดูได้จากไอโฟน แอนดรอยด์ ที่มีการใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ

“ไอโฟน 5 มา ไอโฟน 4 ก็ต้องส่งต่อให้คนอื่นใช้ แอนดรอยด์รุ่นใหม่ๆ เข้ามา แอนดรอยด์รุ่นเดิมก็ต้องส่งต่อให้คนอื่นใช้ แสดงว่ายอดคนใช้สมาร์ตโฟนมีมากขึ้นเรื่อยๆ ไอแพด แท็บเล็ตก็มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย มีเครื่องแบรนด์ใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นธนาคารต้องพัฒนาแอพพลิเคชันเพื่อเป็นทางลัดในการเข้าถึงการใช้งานออกมา|เพื่อรองรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้ใช้” รุ่งเรือง กล่าว

สำหรับไทยพาณิชย์เอง เคยทดลองพัฒนาบริการบนวิดเจ็ตมาแล้วเพื่อลองตลาดแต่ไม่ได้รับความนิยม ตอนนี้พัฒนาเป็นแอพเอสซีบี อีซี บนสมาร์ตโฟน มียอดการดาวน์โหลดสูงมาก ภายใต้คอนเซปต์สะดวก ง่าย ปลอดภัย โดยจากยอดลูกค้าออนไลน์กว่า 1.5 ล้านราย ของไทยพาณิชย์ มีกว่า 10% แล้วที่ดาวน์โหลดไปติดตั้งใช้งาน เวอร์ชันแรกได้คัดเลือกบริการที่ใช้งานเป็นประจำ เช่น โอนเงิน จ่ายบิล เติมเงิน เครดิตการ์ด และกองทุนต่างๆ และเป้าหมายในปีหน้าต้องการเห็นยอดผู้ใช้เพิ่มเป็น 30% ของลูกค้าออนไลน์ทั้งหมด จุดดึงดูดนอกจากความสะดวกแล้ว ค่าธรรมเนียมดำเนินการต่างๆ น้อยกว่า เชื่อว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนมาใช้งานกันมากขึ้น

รุ่งเรือง กล่าวว่า เดิมการแข่งขันในธุรกิจการเงินการธนาคารเป็นรูปแบบเดิมๆ Traditional Bank แต่ในอนาคตจะเป็นรูปแบบของ Technology Bank มากขึ้นเรื่อยๆ ดังเห็นได้จากธนาคารต่างๆ ที่เร่งรีบออกบริการผ่านโมบาย แต่มีหลายธนาคารที่ผูกการให้บริการไว้กับผู้ให้บริการมือถือ หรือการใช้บริการฝาก โอน ถอน ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้พรีเพด ทำให้การผูกเบอร์ไม่น่าจะตอบโจทย์ได้

ขณะที่เรื่องความปลอดภัยนั้น เป็นส่วนที่ผู้ใช้ต้องมีการเรียนรู้มากขึ้น เพราะธนาคารทุกแห่งมีการลงทุนและป้องกันการแฮกระบบอย่างเต็มที่ ดังนั้นช่องโหว่สำคัญไม่ได้อยู่ที่ธนาคาร ขณะที่ผู้ใช้ต้องเรียนรู้ว่า จะป้องกันตัวอย่างไร เช่น การตั้ง Username และ Password ควรมีทั้งตัวเลข ตัวอักษร รวมถึงสัญลักษณ์ต่างๆ และควรมีการเปลี่ยนเป็นประจำ รวมถึงการติดตั้งซอฟต์แวร์ด้านการรักษาความปลอดภัยอุปกรณ์ส่วนตัว ทั้งคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟน แอนตี้ไวรัส อินเทอร์เน็ตซีเคียวริตี ต้องเลือกใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ มีการอัพเดต และต้องสังเกตเว็บไซต์ที่เข้าไปใช้งานว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ เป็นเว็บไซต์ที่แท้จริง

แนวโน้มกำลังพัฒนามาด้านนี้อย่างชัดเจน ในต่างประเทศมีการใช้งานเรียบร้อยแล้ว และเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ไทยก็จะตามไปเช่นเดียวกัน ดังนั้นผู้ใช้ต้องเตรียมพร้อม เรียนรู้ และรับมือ ทดลองดาวน์โหลดและใช้งาน แล้วจะรู้ว่าธุรกรรมการเงินบนโลกไซเบอร์สะดวก ง่ายและปลอดภัยกว่าที่คิด