posttoday

แนะรัฐขจัดผูกขาดเหตุปูทางสู่คอร์รัปชั่น

20 พฤศจิกายน 2555

ภาคเอกชนแนะลดบทบาทภาครัฐ แก้ปัญหาธุรกิจ-บริการถูกผูกขาดนำมาสู่คอร์รัปชั่น ลั่นไม่จริงจังแก้ไขประเทศไม่เจริญ

ภาคเอกชนแนะลดบทบาทภาครัฐ แก้ปัญหาธุรกิจ-บริการถูกผูกขาดนำมาสู่คอร์รัปชั่น ลั่นไม่จริงจังแก้ไขประเทศไม่เจริญ

สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2556 โดยหนึ่งในการเสวนาหัวข้อย่อยเรื่อง “สกัดภัยคอร์รัปชั่นเสริมสร้างศักยภาพธุรกิจไทย” นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า ธุรกิจและบริการของไทยแทบทั้งหมดเป็นของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ในขณะที่ประเทศที่ต้องการก้าวเป็นประเทศพัฒนากลับพยายามลดบทบาทภาครัฐลง เพื่อให้เอกชนมีอิสระในการดำเนินธุรกิจและแข่งขัน ไม่เช่นนั้นจะถูกผูกขาดโดยรัฐ และนำมาสู่การคอร์รัปชั่น เพราะจากข้อมูลภาคธุรกิจยอมรับว่า 70% ยอมจ่ายเงินให้ภาครัฐ และ 80% บอกว่าเป็นความจำเป็นและคุ้มค่าที่จะจ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจ

“รัฐบาลไม่มีความสามารถเท่ากับตลาด หากจะลดคอร์รัปชั่น ก็ต้องลดบทบาทรัฐ และเพิ่มบทบาทเอกชน  ประเทศที่เพิ่มขนาดของรัฐ ถือเป็นการเพิ่มความฉิบหายให้ประเทศ กรณีที่เห็นชัดคือ กรีซ ขณะนี้ภาคบริการของไทยทั้งหมดเป็นของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ แต่รัฐที่แสนดีแสนเก่งไม่มีในโลก เพราะรัฐทำดีสู้ตลาดไม่ได้ เมื่อให้รัฐทำจะการันตีได้ 3 อย่างคือ คุณภาพต่ำ ต้นทุนสูง และไม่เพียงพอ”นายบรรยง กล่าว

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวว่า ถ้าไม่แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ไม่จริงจังเรื่องนี้ ประเทศจะไม่เจริญ ผู้ที่จะจริงจังกับเรื่องนี้ได้ต้องเป็นรัฐบาล เพราะรัฐสามารถเปลี่ยนรูปแบบให้เกิดการแข่งขันในตลาดได้ เป็นเรื่องน่ากังวลว่าขณะนี้อันดับการทุจริตคอร์รัปชั่นของไทยเลวลงเรื่อย ๆ 5 ปีที่ผ่านมาอันดับของไทยอยู่ในอันดับ 60 กว่า เป็นระดับที่ดีกว่าปัจจุบันซึ่งตกอยู่ในอันดับ 80 ได้คะแนะ 3.4 เต็ม 10 ในขณะที่ฮ่องกง และสิงคโปร์ อันดับการทุจริตคอร์รัปชั่นดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 5 และฮ่องกงอยู่ในอันดับที่ 12 ของโลก

นายประมนต์ กล่าวว่า ถ้าจะบอกว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับภาครัฐอย่างเดียวก็คงไม่ถูกต้องนัก คำถามคือเอกชนทำอะไรกันอยู่ถึงปล่อยให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วยังนิ่งเฉย ทำไมภาคเอกชนไม่ลุกขึ้นต่อต้าน แซงชั่นกันเอง อำนาจครึ่งหนึ่งอยู่ในรัฐบาล แต่อำนาจอีกครึ่งหนึ่งคือการควบคุมระหว่างเอกชนกันเอง แล้วทำไมวันนี้เอกชนไม่มีการควบคุมกันเอง 

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ขณะนี้น่าห่วงว่าข้าราชการรุ่นเก่าที่ยึดรูปแบบการทำงานเพื่อประเทศชาติ โดยไม่ต้องสั่ง เพราะรู้ว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำให้ชาติ ทำเพื่อผู้เสียภาษี หรือสิ่งที่ทำสามารถอธิบายต่อผู้บริหารระดับสูงได้ เริ่มไม่มีแล้ว แต่เป็นการทำงานให้นักการเมือง ฉะนั้นแรงกดดันทางสังคมเป็นเรื่องสำคัญมาก ขณะที่ฝั่งการเมืองก็ขาดความกล้าหาญที่จะลุกขึ้นปราบปรามคอร์รัปชั่น