posttoday

ทีวีดาวเทียมโอดถูกดอง

18 พฤศจิกายน 2555

เอกชนโวย กสทช. บอนไซทีวีดาวเทียมเร่งทีวีดิจิตอล ไทยคมหวั่นรายเล็กไม่รอด

เอกชนโวย กสทช. บอนไซทีวีดาวเทียมเร่งทีวีดิจิตอล ไทยคมหวั่นรายเล็กไม่รอด

นายเดียว วรตั้งตระกูล กรรมการผู้จัดการ สายงานแพลตฟอร์ม สตราติจี บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท กล่าวในการสัมมนา “อนาคตโทรทัศน์ดาวเทียมภายใต้กฎใหม่ของ กสทช.” ว่า กฎระเบียบของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับการอนุญาตประกอบการเคเบิลและทีวีดาวเทียมยังไม่ชัดเจนและซ้ำซ้อน

ทั้งนี้ โดยเฉพาะประเด็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 2% รวมกับค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายเข้ากองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์อีก 2% ในประเภทใบอนุญาตใดบ้าง ทั้งโครงข่ายและช่องรายการ รวมทั้งถูกจำกัดด้วยอัตราค่าโฆษณาเพียง 6 นาที สำหรับกิจการโทรทัศน์บอกรับสมาชิก (เพย์ ทีวี) ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการทำงานยากขึ้น

“สำหรับจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ คงยื่นขออนุญาตตามขั้นตอนของ กสทช. และคงเวลาโฆษณาไม่ให้เกิน 6 นาทีต่อชั่วโมง แต่ผู้ประกอบการรายเล็กจะอยู่ยาก เพราะต้นทุนของทีวีดาวเทียมอยู่ประมาณ 3-4 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่อัตราค่าโฆษณาอยู่ประมาณ 2,000 บาท หากถูกจำกัดอีกจะทำให้อยู่ยากขึ้น ขณะที่ กสทช.เร่งผลักดันทีวีดิจิตอลให้เกิดขึ้น แต่ก็บอนไซธุรกิจทีวีดาวเทียมที่มีอยู่” นายเดียว กล่าว

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม กล่าวว่า ปัจจุบันลูกค้าของไทยคมกว่า 100 ราย ผลิตรายการกว่า 472 ช่อง ยังไม่เข้าใจกฎระเบียบการให้ใบอนุญาตทีวีดาวเทียมของ กสทช.มากนัก โดยหลายรายยังลังเลไม่ดำเนินการยื่นขอใบอนุญาต ขณะที่ระยะเวลาที่จะให้ผู้ประกอบการยื่นขอใบอนุญาตภายในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ คาดว่าจะไม่ทัน จึงอยากให้ กสทช.ยืดเวลาและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบให้ชัดเจนก่อน

“ไทยคมอยากให้ กสทช. ส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ในทุกรูปแบบ โดยไม่เลือกสื่อและให้สามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมบนพื้นฐานเดียวกัน ซึ่ง กสทช. อย่าลืมว่าปัจจุบันนี้ทีวีดาวเทียมถือเป็นทีวีดิจิตอลระบบหนึ่งที่เข้าถึงครัวเรือนไทยมากกว่า 10 ล้านครัวเรือน การออกกฎระเบียบต่างๆ ต้องคำนึงถึงผู้ประกอบการรายย่อยด้วย” นางศุภจี กล่าว

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า กสทช.ให้ความสำคัญกับทุกธุรกิจอย่างเท่าเทียมกัน และให้ความสำคัญกับเคเบิลและทีวีดาวเทียมก่อนด้วย เพราะเป็นกลุ่มแรกที่ได้ใบอนุญาต ซึ่งในปีแรก กสท.ยังไม่ให้ความสำคัญเรื่องการประกอบการ เช่น เวลาโฆษณามากนัก

กสท.ให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่ต้องไม่เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน เป็นโฆษณาที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) คาดจะเริ่มออกใบอนุญาตได้ภายในเดือนนี้