posttoday

แนะเอสเอ็มอีออนไลน์ฮึดทำมาร์เก็ตติง

18 พฤศจิกายน 2555

การนำพาธุรกิจเข้าสู่โลกออนไลน์พร้อมด้วยการโปรโมตผ่านระบบการค้นหา จึงเป็นช่องทางที่เหมาะสมกับเอสเอ็มอี

โดย...พรหมเมศร์ ศิริสุขวัฒนานนท์
 
นับถอยหลังใกล้เวลาของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี เข้าไปทุกขณะ แทนที่จะถามว่าประเทศไทยพร้อมหรือไม่กับการรับมือเออีซี อาจต้องเปลี่ยนคำถามใหม่ว่า ทำไมต้องรอให้ถึงเออีซี ถ้าตอนนี้สามารถก้าวเข้าไปทำตลาดได้โดยไม่ต้องรอสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะในโลกออนไลน์ไม่มีคำว่าพรมแดนแล้ว ขอเพียงคลิกต่ออินเทอร์เน็ตได้ จะอยู่ที่ไหนก็ทำธุรกิจ ซื้อขายสินค้าได้ไม่แตกต่างกัน

แนะเอสเอ็มอีออนไลน์ฮึดทำมาร์เก็ตติง

มองตลาดไทยมีประชากรอินเทอร์เน็ต 24 ล้านคน และมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจำนวนผู้ใช้สมาร์ตโฟนที่ถือว่าเติบโตเร็วติดอันดับต้นๆ ของโลก จนทำให้กลายเป็นที่จับตามอง จากปัจจุบันมีการใช้สมาร์ตโฟนคิดเป็น 28% ของประชากรทั้งหมด หรือ 18 ล้านเครื่อง และมีความเป็นไปได้สูงที่จะเติบโตเท่าตัวในปีหน้า

เมื่อพิจารณาจาก 2 ปรากฏการณ์ดังกล่าว นั่นคือมีลูกค้าที่เป็นประชากรอินเทอร์เน็ตในประเทศจำนวนมาก ยังไม่นับรวมนอกประเทศอีกมหาศาล กับผู้ประกอบการอีกจำนวนมากกว่าครึ่งที่ยังไม่ได้ก้าวเข้ามาทำธุรกิจในโลกเสมือนจริงนี้ ต้องบอกเลยว่าเข้าตลาดก่อนมีสิทธิก่อน จะรอช้าไม่ได้

อริยะ พนมยงค์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ กูเกิล ประเทศไทย เปิดเผยว่า เอสเอ็มอีที่อยู่บนโลกออนไลน์แล้วมีประมาณ 10% เท่านั้น ยังมีช่องว่างอีกมากซึ่งเมื่อเทียบกับต่างประเทศ อินโดนีเซียและมาเลเซียมีอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกับไทย แต่สิงคโปร์มีสัดส่วนประมาณ 30% แต่ต้องบอกก่อนว่า อยู่บนโลกออนไลน์ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่ามีเพียงแค่เว็บไซต์เท่านั้น แต่ต้องสามารถส่งเสริมธุรกิจ สร้างรายได้ และมีการทำการตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้าด้วย

“กูเกิลพยายามผลักดันให้เอสเอ็มอีมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองเพื่อเป็นหน้าร้านผ่านโครงการธุรกิจไทยโกออนไลน์ และให้สร้างช่องทางผ่านมือถือด้วยโครงการโกโมบาย แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีการโปรโมตเว็บไซต์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่จะให้ผู้ประกอบการมาทำการตลาดเองก็เป็นเรื่องยาก และไม่ใช่ธุรกิจหลักของเอสเอ็มอี ดังนั้นจึงต้องมีเครื่องมือมาช่วย” อริยะ กล่าว

สำหรับเครื่องมือของกูเกิลนั้น แบ่งได้ 3 ประเภท อันดับแรกคือ บริการค้นหา หรือกูเกิลเสิร์ช โดยมีรูปแบบบริการที่เรียกว่า แอดเวิร์ด (Adwords) ซึ่งมีทั้งบนคอมพิวเตอร์และโมบาย ซึ่งจะช่วยเมื่อมีผู้ใช้ค้นหาคำ ส่วนต่อมาคือ ดิสเพลย์ เน็ตเวิร์ก หรือโฆษณาที่กูเกิลนำไปเสนอต่อให้ยังเว็บไซต์อื่นๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องใกล้เคียงกับเว็บไซต์ของธุรกิจต่างๆ และสุดท้ายคือ การโฆษณาผ่านโมบาย แอพพลิเคชันต่างๆ ที่มีการดาวน์โหลดผ่านกูเกิล เพลย์ สโตร์

ทั้งนี้ กูเกิลได้แต่งตั้งพันธมิตรที่จะดูแลผู้ประกอบการ โดยในประเทศไทยมีทั้งหมด 4 ราย คือ เว็บเนติกส์ เอ็นบีซี ท็อปสเปซ และ เรดดี้แพลนเน็ต มีเป้าหมาย คือ กระตุ้นให้เอสเอ็มอีเข้าสู่โลกออนไลน์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของเอสเอ็มอีทั้งหมด เพื่อขึ้นไปเทียบเท่ากับสิงคโปร์ ซึ่งเชื่อว่านอกจากการผลักดันจากกูเกิลและพันธมิตรแล้ว นโยบายของรัฐบาลในการขยายการเข้าถึงบรอดแบนด์ เช่น โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ ที่ต้องเข้าถึง 80% ของประชากร มีส่วนช่วยอย่างยิ่ง รวมถึงการเตรียมออกใบอนุญาต 3จี ที่จะนำไปสู่การแข่งขัน และสร้างความร่วมมือใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น

ทรงยศ คันธมานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต ผู้ให้บริการโดเมนและเว็บโฮส ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรของกูเกิล กล่าวว่า เรดดี้แพลนเน็ต มีบริการที่ครบวงจร คือ มีผู้ประกอบการมาใช้บริการสร้างเว็บไซต์ ซึ่งใช้โปรแกรมเว็บสำเร็จรูปทำให้ง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน ใครก็สามารถทำได้ และที่สำคัญคือมีส่วนของแอดเวิร์ดมาช่วยในการโฆษณาโปรโมตเว็บไซต์ ซึ่งข้อดีคือ เอสเอ็มอีใช้งบประมาณเท่าไรก็ได้ หลักพันบาทต่อเดือนก็ทำได้แล้ว และสามารถวัดผลได้ทันที ถ้าไม่เห็นผลสามารถปรับปรุงหรือยกเลิกได้

“โฆษณารูปแบบอื่นใช้งบประมาณสูงวัดผลได้ยาก แต่ถ้าเป็นแอดเวิร์ด ลูกค้าก็ผู้ค้นหาผ่านทางกูเกิลซึ่งมีคนใช้มากกว่า 95% ในไทย มีการเก็บค่าใช้จ่ายเมื่อมีการคลิกจริงเกิดขึ้น สิ่งที่วัดได้คือ การมีคนโทรมาหามากขึ้น มีคนสนใจเว็บไซต์มากขึ้น และสุดท้ายคือมีการซื้อขายเกิดขึ้น ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ลูกค้าเอสเอ็มอีมีการเพิ่มงบการตลาดส่วนนี้ 100%” ทรงยศ กล่าว

ส่วนของเรดดี้แพลนเน็ตเอง มองเห็นการเติบโตจากการใช้แอดเวิร์ดเป็นเครื่องมือ โดยพบว่ามียอดลูกค้าเอสเอ็มอีนำแอดเวิร์ดไปใช้ และมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเติบโต 50% แสดงให้เห็นว่าเอสเอ็มอีรู้แล้วว่า ต้องทำธุรกิจออนไลน์และเริ่มมองเห็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้เรดดี้แพลนเน็ตตั้งเป้าการเติบโตของจำนวนลูกค้าและรายได้ของบริษัทในปีหน้า 50%

อริยะ ได้ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจว่า รูปแบบการค้นหาข้อมูลของประชาชนทั่วไปเพิ่มมากขึ้นทุกวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก ยิ่งถ้าต้องการซื้อสินค้าหรือบริการใดๆ ก็ตาม สิ่งแรกที่จะทำคือการเข้าหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต เมื่อก่อนจะซื้อโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ เข้าอินเทอร์เน็ต ทำการเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของแต่ละแบรนด์ แต่ละรุ่น จนกระทั่งปัจจุบัน แม้แต่บ้าน รถยนต์ ก็ต้องหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก่อน และแน่นอนว่าต้องใช้ระบบการเสิร์ชค้นหาเพื่อให้ได้ข้อมูลจากหลายแหล่ง

ดังนั้น การนำพาธุรกิจเข้าสู่โลกออนไลน์พร้อมด้วยการโปรโมตผ่านระบบการค้นหา จึงเป็นช่องทางที่เหมาะสมกับเอสเอ็มอี ยิ่งการเปิดเออีซีกำลังจะมาถึง การนำตัวเองเข้าสู่โลกออนไลน์เท่ากับเตรียมความพร้อมไปแล้วล่วงหน้า ยิ่งตลาดอาเซียน คือเป้าหมายหลักในยุคนี้ มีการแข่งขันที่รุนแรง การยึดพื้นที่ทำตลาดได้ก่อน นั่นคือข้อได้เปรียบที่นำไปสู่ชัยชนะ