posttoday

โวยกสทช.บอนไซทีวีดาวเทียม

16 พฤศจิกายน 2555

เอกชนโวย กสทช. บอนไซทีวีดาวเทียม เร่งทีวีดิจิตอล ไทยคมหวั่นรายเล็กไม่รอด

เอกชนโวย กสทช. บอนไซทีวีดาวเทียม เร่งทีวีดิจิตอล ไทยคมหวั่นรายเล็กไม่รอด

นายเดียว วรตั้งตระกูล กรรมการผู้จัดการ สายงานแพลตฟอร์ม สตราติจี บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท กล่าวในการสัมนา “อนาคตโทรทัศน์ดาวเทียมภายใต้กฎใหม่ของกสทช.” ว่า กฎ ระเบียบของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับการอนุญาตประกอบการเคเบิลและทีวีดาวเทียมยังไม่ชัดเจน และซ้ำซ้อน โดยเฉพาะประเด็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 2% รวมกับค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายเข้ากองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์อีก 2% ในประเภทใบอนุญาตใดบ้าง ทั้งโครงข่ายและช่องรายการ รวมทั้งถูกจำกัดด้วยอัตราค่าโฆษณาเพียง 6 นาทีสำหรับกิจการโทรทัศน์บอกรับสมาชิก (เพย์ ทีวี) ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการทำงานยากขึ้น

“สำหรับจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ คงยื่นขออนุญาตตามขั้นตอนของกสทช.อยู่แล้ว และคงเวลาโฆษณาไม่ให้เกิน 6 นาทีต่อชั่วโมงอยู่แล้ว แต่ผู้ประกอบการรายเล็กจะอยู่ยาก เพราะปัจจุบันต้นทุนของทีวีดาวเทียมอยู่ประมาณ 3-4 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่อัตราค่าโฆษณาอยู่ประมาณ 2,000 บาท หากถูกจำกัดอีกจะทำให้อยู่ยากขึ้นเท่ากับ ขณะที่กสทช.เร่งผลักดันทีวีดิจิตอลให้เกิดขึ้นอีก เท่ากับเป็นการบอนไซธุรกิจทีวีดาวเทียมที่มีอยู่” นายเดียวกล่าว

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม กล่าวว่า ปัจจุบันลูกค้าของไทยคมกว่า 100 ราย ผลิตรายการกว่า 472 ช่อง ยังไม่เข้าใจกฎ ระเบียบการให้ใบอนุญาตทีวีดาวเทียมของกสทช.มากนัก โดยหลายรายยังลังเลไม่ดำเนินการยื่นขอใบอนุญาต ขณะที่ระยะเวลาที่จะให้ผู้ประกอบการยื่นขอใบอนุญาตภายใน 16 ธ.ค.นี้ คาดว่าจะไม่ทัน จึงอยากให้กสทช.ยืดเวลาและสร้างความเข้าใจกฎ ระเบียบให้ชัดเจนก่อน

“ไทยคม มองว่าอยากให้กสทช.ส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ในทุกรูปแบบ โดยไม่เลือกสื่อและให้สามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม บนพื้นฐานเดียวกัน ซึ่งกสทช.อย่าลืมว่าปัจจุบันนี้ทีวีดาวเทียม ถือเป็นทีวีดิจิตอลระบบหนึ่งที่เข้าถึงครัวเรือนไทยมากกว่า 10 ล้านครัวเรือน การออกกฎ ระเบียบต่างๆต้องคำนึงถึงผู้ประกอบการรายย่อยด้วย ถ้ามีเงื่อนไขมากจะเหลือแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น” นางศุภจีกล่าว

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า กสทช.ให้ความสำคัญกับทุกธุรกิจอย่างเท่าเทียมกัน และให้ความสำคัญกับเคเบิลและทีวีดาวเทียมก่อนด้วย เพราะจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้ใบอนุญาต ซึ่งในปีแรก กสท.ยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องการประกอบการ เช่น เวลาโฆษณามากนัก และทีวีดาวเทียมที่เป็นออกอากาศแบบฟรี ยิ่งไม่กำหนด

ทั้งนี้ กสท.จะให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่ต้องไม่เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน เป็นโฆษณาที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งระเบียบของอย.และสคบ. เพื่อดูแลแก้ไขให้สื่อทีวีดาวเทียมที่มีอยู่จำนวนมาก เป็นสื่อที่ดีของสังคม โดยคาดว่าจะเริ่มออกใบอนุญาตได้ภายในเดือนนี้ ครั้งละ 200-300 ราย