posttoday

เซ็นทรัลเอ็มบาสซีผุด150ร้านแบรนด์เนม

12 พฤศจิกายน 2555

เซ็นทรัล เอ็มบาสซี ผุด150 แบรนด์เนม "ซิกเนอร์เจอร์ สโตร์" รับเทรนด์สินค้าหรูอนาคตหลังผลวิจัยระบุไทยเป็นหนึ่งปลายทางแหล่งสินค้าลักชัวรีระดับโลก

เซ็นทรัล เอ็มบาสซี ผุด150 แบรนด์เนม "ซิกเนอร์เจอร์ สโตร์" รับเทรนด์สินค้าหรูอนาคตหลังผลวิจัยระบุไทยเป็นหนึ่งปลายทางแหล่งสินค้าลักชัวรีระดับโลก

เซ็นทรัลเอ็มบาสซีผุด150ร้านแบรนด์เนม

นายชาติ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการโครงการเซ็นทรัล เอ็มบาสซี  ภายใต้บริษัทเซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น(ซีอาร์ซี) ผู้บริหารธุรกิจค้าปลีกและห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เปิดเผยว่าโครงการฯดังกล่าวดำเนินการขายพื้นที่ไปแล้ว90% ซึ่งจะมีร้านค้าแบรนด์เนมระดับหรู(ลักชัวรี แบรนด์)ระดับโลกในรูปแบบ “ซิกเนอร์เจอร์ สโตร์” มากกว่า150 แบรนด์ ซึ่งจะมีความพิเศษมากกว่าร้านค้าต้นแบบขนาดใหญ่(แฟลกชิป สโตร์)ในศูนย์การค้าอื่นๆในขณะนี้และในอนาคต

สำหรับร้านค้าแบรนด์เนมหรูหรา อาทิ ชาแนล, กุชชี, พราดา, ราฟ ลอเรนซ์, โบเตกา เวเนตา, เซนต์ ลอเรนซ์, มัลเบอร์รี, บาเลนซิกา, พอล สมิทธ์, ปาเต๊ก ฟิลลิปป์, เป็นต้น รวมถึงแบรนด์เนมหรูใหม่ที่จะเข้ามเปิดในไทยเป็นแห่งแรก เช่น จอห์น วาร์เวโตส์ และโรเบิร์ต คาวาลลี ฯลฯ ซึ่งขณะนี้ร้านค้าดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบตกแต่งภายในร้านให้ ซึ่งเจ้าของสินค้าจะลงทุนเองนอกเหนือจากงบรวมโครงการกว่า1หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกันยังจะต้องสอดคล้องกับแนวทางการบริหารธุรกิจของโครงการฯ ภายใต้แนวคิด “4ไอ(เอส)” คือ อินฟลูเอ็นเชียล, ไอคอนนิค, อินดิวิดวล และ อินสไปริง ซึ่งโครงการฯมีพื้นที่ทั้งหมดราว 1.4แสนตร.ม. แบ่งสัดส่วนพื้นที่เป็น แฟชัน ลักชัวรี และ บริดจ์ ไลน์ 40%, กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 30% และ ไลฟ์สไตล์-เอ็นเตอร์เทนเมนต์ อีก30%  โดยโครงการฯอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และพร้อมเปิดให้บริการในส่วนศูนย์การค้าเดือนธ.ค.2556 และส่วนโรงแรมปาร์ค ไฮแอทในเดือนก.ย.2557

นายชาติ กล่าวว่ารูปแบบโครงการฯ ยังรองรับในกระแสสินค้าหรูหราในอนาคต(ฟิวเจอร์ ลักชัวรี)ระดับโลก ที่สินค้าหรูแบรนด์เนมต้องการสร้งประสบการณ์ให้กับลูกค้ารวมถึงความเป็นเอกลักษณ์ในตัวสินค้าหรือแบรนด์เฉพาะมากขึ้น ไม่ใช่รูปแบบของสินค้าหรูหราแบบดั้งเดิม(ทราดิชันแนล ลักชัวรี แบรนด์เนม) ที่หมายถึงสินค้าหรูหราราคาแพงเท่านั้น ซึ่งกระแสดังกล่าว ได้เริ่มขยายไปยังตลาดผู้บริโภคในเอเชีย รวมถึงไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ จากการสำรวจของ Ledburry Group ผู้วิจัยตลาดสินค้าหรูหราระดับโลก ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทย ถือว่าเป็นหนึ่งในแหล่งปลายทายสินค้าหรูหรา(ลักชัวรี เดสติเนชัน)ระดับโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) ซึ่งค้าปลีกไทยถือว่ามีความแข็งแกร่งที่สุด นอกจากนี้ผลวิจัยยังระบุอีกว่ากำลังซื้อจากประเทศไทยในยังติดอันดับ6ของโลก ที่มีการขอรับเงินภาษีนักท่องเที่ยวคืน(แท็ค รีฟันด์) ในปัจจุบันด้วย

ทั้งนี้เมื่อโครงการฯเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะทำให้ย่านเพลินจิตกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการจับจ่ายซื้อสินค้าหรูหราที่โดดเด่นใจกลางมหานครของประเทศไทย เทียบเท่าได้กับย่าน ฟิฟท์ อเวนิว ในนิวยอร์ค ย่านกินซ่า ญี่ปุ่น หรือ ออชาร์ด สิงคโปร์ รวมถึงแหล่งชอปปิงหรูหรา ในปารีส ฝรั่งเศสด้วย จากปัจจุบันได้มีการรวมกลุ่มเป็น เพลินจิต ซิตี ประกอบด้วย โครงการปาร์คเวนเจอร์, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, โครงการโนเบิล, ปาร์ค นายเลิศ และ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี