posttoday

จุฬาฯป้องกสทช.ไม่ผิดหลักประมูล3จี

07 พฤศจิกายน 2555

ทีมวิจัยจุฬาฯ ชี้หลายประเทศเคาะประมูลไม่สูงกว่าราคาตั้งต้น ไม่จำเป็นต้องยึดราคา 6,440 ล้าน

ทีมวิจัยจุฬาฯ ชี้หลายประเทศเคาะประมูลไม่สูงกว่าราคาตั้งต้น ไม่จำเป็นต้องยึดราคา 6,440 ล้าน

การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน สภาฯ ในวาระพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และการดำเนินการประมูลใบอนุญาตการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3จี โดยเชิญนายไพฑูรย์ วิบูลชุติกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการในการศึกษาวิจัยการประเมิลมูลค่าคลื่นความถี่และมูลค่าขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 3 จี รวมถึงตัวแทนจากบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และบริษัท ทรู คอร์เปอเรชั่น เข้าชี้แจง

นายไพฑูรย์ กล่าวว่า ผลการศึกษาประมาณการมูลค่าของใบอนุญาตในการประมูลคลื่นความถี่ 3จี 2.1 GHz ที่ 6,440 ล้านบาทเป็นการคำนวณโดยใช้หลักเศรษฐมิติผ่านการศึกษาใน 17 ประเทศ ซึ่งเป็นค่ากลางที่ศึกษาจากปัจจัยหลายด้าน ไม่เกี่ยวข้องกับราคาประมูลตั้งต้นที่ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนด เพราะถือเป็นดุลยพินิจ ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าราคาประมูลไม่ได้สูงจากราคาตั้งต้นนั้น จากการศึกษาในหลายประเทศก็พบว่า ราคาไม่แตกต่างจากราคาตั้งต้นเช่นกัน

“กสทช.ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายด้านในการตัดสินใจ หากกำหนดราคาแพงเกินไปอาจส่งผลให้ไม่มีผู้กล้าเข้าประมูล หรืออาจทำให้การประมูลต้องล้มทั้งหมด ประเทศไทยอาจไม่มี 3 จีใช้ แม้ตัวเลข 4,500 ล้านบาทจะต่ำไปทางซ้ายของเกณฑ์ แต่กสทช.อาจใช้ดุลยพินิจแล้วว่าตัวเลข 4,500 ล้านบาทมีโอกาสทำให้การประมูลประสบความสำเร็จสูง” นายไพฑูรย์กล่าว
                          
นายดามพ์ สุคนธทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค กล่าวว่า สาเหตุที่ดีแทคไม่เคาะราคาประมูลสูงขึ้นจากราคาตั้งต้น เพราะเป็นกลยุทธ์ของการประมูลที่ได้ศึกษามา และราคาตั้งต้น 4,500 ล้านบาทไม่ใช่ราคาที่ถูก แต่บริษัทก็พร้อมลงทุน พร้อมกับยืนยันว่าการประมูลในครั้งนี้มีการแข่งขันกันแน่นอน เพราะในช่วงที่ประมูลไม่ทราบว่าใครเป็นใคร เพียงแต่คาดเดาเท่านั้น

นายอธึก อัศวานันท์ รองประธานกรรมการและหัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านกฎหมาย บริษัท ทรู กล่าวว่า หากการประมูลที่ผ่านมาตั้งราคาเริ่มต้นไว้เพียง 500 ล้านบาท อาจทำให้มีผู้เข้าประมูลนับสิบราย แต่เมื่อกำหนดราคาสูงจึงเป็นสาเหตุหนึ่งให้เหลือบริษัทเพียง 3 รายในการเข้าประมูล พร้อมกับย้ำว่าไม่มีการฮั้วประมูลระหว่าง 3 บริษัทแน่นอน

“อย่าใช้ความรู้สึกส่วนตัว แต่ควรให้ กสทช. ตรวจสอบการใช้ซีดีอาร์ หรือ คอลดีเทลรีพอร์ท คือรายการการใช้โทรศัพท์ ซึ่งสามารถตรวจสอบรายกรสนทนา รวมถึงถึงสถานที่อยู่ได้ว่าแต่ละคนอยู่ใกล้กัน หรือมีการโทรศัพท์หากันหรือไม่ เพราะประเด็นนี้ถือเป็นพื้นฐานที่สามารถตรวจสอบได้อยู่แล้ว” นายอธึกกล่าว