posttoday

รมว.เกษตรฯสั่งปั้นสมาร์ทฟาร์มเมอร์

05 พฤศจิกายน 2555

รมว.เกษตรฯคนใหม่มอบนโยบายหน่วยงานในกระทรวงสั่งเดินหน้าสร้างเกษตรกรไทยเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์

รมว.เกษตรฯคนใหม่มอบนโยบายหน่วยงานในกระทรวงสั่งเดินหน้าสร้างเกษตรกรไทยเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. นายยุคล  ลิ้มแหลมทอง  รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์   มอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และวีดีโอลิงค์ไปยังสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ และสำนักที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศทั้ง 7 แห่งทั่วโลก

นายยุคลกล่าวว่า นโยบายหลักที่จะเร่งรัดหน่วยงานต่างๆ ให้ดำเนินการเพื่อดูแลเกษตรกรและภาคการเกษตรของประเทศแบ่งเป็น 3 ส่วน หลักด้วยกัน ได้แก่ 1.การดำเนินโครงการพระราชดำริ 2.โครงการตามนโยบายรัฐบาล และ 3.นโยบายเฉพาะ  โดยนโยบายด้านโครงการพระราชดำรินั้น ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการติดตามประสานงานโครงการพระราชดำริ และให้มีผู้บริหารของกระทรวงเกษตรฯติดตามในการเสด็จตรวจงานทุกครั้ง เพื่อรับสนองงานและรายงานให้กระทรวงเกษตรฯ ทราบถึงข้อรับสั่งที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาจัดทำและดำเนินการโครงการที่เกิดประโยชน์กับเกษตรกร เพื่อให้ผลการดำเนินงานดังกล่าว เป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในวโรกาสทรงมีพระชนมายุครบ 60 ปี ในอีก 3 ปีข้างหน้า

สำหรับโครงการตามนโยบายรัฐบาลนั้น ก็จะเร่งรัดดำเนินการทั้งในส่วนนโยบายเร่งด่วน และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร โดยเฉพาะในเรื่องการยกระดับสินค้าราคาสินค้า ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานส่งแผนการดำเนินการที่ชัดเจน รวมถึงรายละเอียดต้นทุนการผลิตสินค้าแต่ละชนิดจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรให้ทราบภายใน 2 สัปดาห์

ขณะที่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตรไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเข็มแข้งให้องค์กรเกษตรกร การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อการแข่งขันและความมั่นคงอาหาร การพัฒนาทรัพยากรในไร่นา ดิน น้ำ การวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ การลดต้นทุนการผลิต และการทำมาตรฐานการผลิต ได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานทำแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน เพื่อประกอบการขอและจัดทำงบประมาณปีงบประมาณ 2557 ซึ่งต้องแล้วเสร็จภายใน 21 พ.ย. 2555 นี้

นายยุคล กล่าวอีกว่า ส่วนนโยบายข้อสุดท้าย คือ นโยบายเฉพาะที่ได้เคยกล่าวแล้วเมื่อครั้งมารับตำแหน่งในวันแรก คือ การสร้างให้เกษตรกรไทยเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์นั้น กระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการโดยการตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตร โดยมีข้อมูลทั้งแหล่งผลิต ฤดูกาลที่ผลผลิตออก ปริมาณผลผลิต สภาพภูมิอากาศ ราคาสินค้าตลาดทั้งในและนอกประเทศ โดยเชื่อมโยงกับข้อมูลของสศก. เพื่อตั้งเป็นวอลล์รูมเชื่อมข้อมูลลงทุกจังหวัด และนำข้อมูลไปแนะนำแก่เกษตรกร

ขณะเดียวกันจะมอบหมายให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัดทำแผนการพัฒนาการเกษตรระดับจังหวัด โดยมีข้อมูลโซนนิ่งสินค้าเกษตรทุกชนิดในจังหวัดให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคมนี้ เพื่อวางแผนโซนนิ่งตามนโยบายรัฐบาลโดยเร่งด่วนต่อไป รวมถึงปรับรูปแบบการส่งเสริมการเกษตรใหม่ โดยให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัดรวมรวม แผนปฏิบัติการในการส่งเสริมเกษตรกรในรูปการทำการเกษตรสีเขียวและการลดต้นทุนการเกษตร โดยบูรณาการการทำงานในจังหวัดและทำแผนเชิงรุก และจัดทำแผนฤดูกาลผลผลิตในพื้นที่  ปัญหาด้านราคาผลผลิตสินค้าเกษตรในแต่ละช่วง รวมถึงภัยธรรมชาติต่างๆ ที่จะเกิดในรอบปีส่งมายังกระทรวงเกษตรฯภายใน 31 ธ.ค.นี้

สำหรับแนวทางในการพัฒนาการเกษตรไทยให้เป็นผู้นำในอาเซียนนั้น มีแนวคิดที่จะประสานความร่วมมือระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตร เพื่อพัฒนาให้การเกษตรไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาในภูมิภาค และจะต้องเป็นมาตรการเชิงรุกไม่ใช่เชิงรับ เช่น การกำหนดมาตรฐานการผลิต แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหาร การปรับปรุงกฎระเบียบรวมทั้งภาษีให้เอื้อต่อการร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยมอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ตั้งศูนย์เพื่อดูแลเรื่องอาเซียน โดยเฉพาะเออีซีและเงื่อนไขทางสังคมที่เกี่ยวกับความมั่นคงและปลอดภัยของอาหารในอาเซียนด้วย

ด้าน นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำหรับนโยบายที่จะเร่งดำเนินการ คือ การสานงานต่อเป็นภารกิจที่กับกรมประมงที่ได้รับมอบหมาย ได้แก่ การยกระดับมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงปลานิลให้เพิ่มขึ้นเท่าตัว หรือ 100% การส่งเสริมเกษตรกรภาคประมงให้เข้าสู่มาตรฐานฟาร์มครบทุกแห่ง ก่องานใหม่ ได้แก่ การนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดเป็นฟาร์มอัจฉริยะ ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เอาใจใส่สร้างมูลค่า คือ การสร้างตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าประมง และการผลักดันสู่การเป็นศูนย์กลางสินค้าประมงโลก หรือฮับซีฟู้ด และสุดท้ายคือ การดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริ

นายยุทธพงศ์  จรัสเสถียร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า  สำหรับนโยบายหลักที่จะดำเนินการคือ การสานต่อเรื่องการแก้ไขปัญหาราคายางพารา โดยนำมิติทางเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์ให้มีความสอดคล้องกันทั้งพื้นที่การผลิต และความต้องการของตลาดโลก เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยในเบื้องต้นก็คือ การเพิ่มปริมาณใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งจะมีการหารือกับกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ในการใช้ยางพาราในการสร้างยางถนนเพิ่มขึ้น  และการดูแลในด้านปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารเคมีทางการเกษตร เป็นต้น ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญมา กในการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ และสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง