posttoday

พงษ์ศักดิ์เล็งผุดบัตรเครดิตแอลพีจี

05 พฤศจิกายน 2555

“พงษ์ศักดิ์”ปิ๊งไอเดียผุดบัตรเครดิตพลังงานแอลพีจีแจกผู้มีรายได้น้อยรองรับปรับโครงสร้างราคาปีหน้า

“พงษ์ศักดิ์”ปิ๊งไอเดียผุดบัตรเครดิตพลังงานแอลพีจีแจกผู้มีรายได้น้อยรองรับปรับโครงสร้างราคาปีหน้า

พงษ์ศักดิ์เล็งผุดบัตรเครดิตแอลพีจี

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล รมว.พลังงาน  เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายให้กับผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ในโอกาสรับตำแหน่งวันแรกว่า มีนโยบายออกบัตรเครดิตพลังงานให้กับผู้ใช้ก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพื่อบรรเทาผลกระทบหลังมีการปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีในปี 2556  เนื่องจากจะได้การอุดหนุนราคาผ่านการลดราคาแอลพีจีเมื่อนำบัตรเครดิตไปใช้

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเร่งด่วนว่า ผู้มีรายได้น้อย แม่ค้า พ่อค้า หาบเร่  แผงลอย หรือผู้ประกอบการย่อย มีจำนวนเท่าไหร่ในระบบ  และมีปริมาณการใช้แอลพีจีอยู่แค่ไหน    โดยเบื้องต้นปลัดกระทรวงพลังงานแจ้งว่าเมื่อเทียบเคียงกับจำนวนครัวเรือนที่ยากจากซึ่งได้รับค่าไฟฟ้าฟรี 50 หน่วย/เดือนจากรัฐบาล มีจำนวน 4 ล้านครัวเรือน และใช้แอลพีจีประมาณ 6 ก.ก./เดือน   ดังนั้นหากอุดหนุนราคาโดยตรง 10 บาท/ก.ก. ใน4 ล้านครัวเรือน จะใช้เงินประมาณ 2,880 ล้านบาท/ปี

นอกจากนี้เมื่อรวมกับการอุดหนุนราคากับผู้ประกอบการรายย่อย   เช่น หาบเร่   แผงลอย  และกลุ่มครัวเรือนยาจาก คาดว่ารวมผู้ใช้ในกลุ่มนี้ทุกประเภท รัฐบางต้องใช้เงินไม่เกินปีละ 5,000 ล้านบาท   ซึ่งเทียบกับการอุดหนุนราคาแอลพีจีทั้งระบบในปัจจุบันปีละ 3 หมื่นล้านบาท  น่าจะเป็นแนวทางที่ช่วยลดการอุดหนุนราคาลงได้

“บัตรเครดิตพลังงานแอลพีจีจะคล้ายกับบัตรที่ใช้กับเอ็นจีวี เป็นทั้งบัตรส่วนลดราคาและวงเงินเครดิต  โดยคุณสมบัติของบัตรจะเป็นส่วนลดให้กับผู้นำบัตรไปใช้ซื้อแอลพีจี  ซึ่งจะต้องไปศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนอีกครั้ง แต่ในหลักการต้องการช่วยคนรายได้น้อย ในขณะที่คนมีฐานะ ควรต้องจ่ายแอลพีจีตามความเป็นจริง”นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

สำหรับนโยบายการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ สำรองน้ำมันของประเทศ จากการเพิ่มสำรองน้ำมันจาก 30 วันเป็น 90 วัน    โดยขอให้นำผลศึกษาโครงการแลนด์บริจด์ในประเด็นการวางท่อส่งน้ำมันมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาร่วมกับโครงการวางท่อขนส่งน้ำมันในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่กำหนดไว้อยู่แล้ว เพื่อให้เกิดประโยชน์กับการใช้ศักยภาพของท่อขนส่งน้ำมัน

นายพงษ์ศักดิ์  กล่าวถึง นโยบายด้านไฟฟ้า ได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปเร่งทำความเข้าใจกับภาคประชาชนกรณีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ เนื่องจากถูกต่อต้านจากกลุ่มเอ็นจีโอ เพราะจะเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคตที่สำคัญ เพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าถูกลง   โดยตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ  พ.ศ. 2553-2573 หรือ(พีดีพี2010 ) ระบุว่าอีก 20 ปีข้างหน้ากำลังการผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นจาก 3.2หมื่นเมกะวัตต์ เป็น 7 หมื่นเมกะวัตต์    ดังนั้นกฟผ.จึงมีภารกิจสร้างโรงไฟฟ้าอีกมาก