posttoday

กกร.ตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบขึ้นค่าแรงด่วน

05 พฤศจิกายน 2555

กกร.ตั้งคณะทำงานศึกษผลกระทบค่าแรง300บาท 8พ.ย. นี้ ก่อนสรุปรายละเอียดเสนอนายกฯหามาตรการลดผลกระทบ

กกร.ตั้งคณะทำงานศึกษผลกระทบค่าแรง300บาท 8พ.ย. นี้ ก่อนสรุปรายละเอียดเสนอนายกฯหามาตรการลดผลกระทบ

กกร.ตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบขึ้นค่าแรงด่วน ภาพประกอบข่าวจากแฟ้มภาพ

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอฯ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทยว่า   ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา1ชุดประกอบด้วยตัวแทนจาก3สถาบัน เพื่อทำหน้าที่พิจารณาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ซึ่งจะประชุมเร่งด่วนนัดแรกวันที่ 8 พ.ย. นี้  โดยหลังจากนั้นจะสรุปรายละเอียดจัดทำเป็นหนังสือเสนอต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์   ชินวัตร   นายกรัฐมนตรี เพื่อหาแนวทางลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงต่อไป

ทั้งนี้หากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้  แนวทางแก้ปัญหาตอนนี้คือการหามาตรการลดผลกระทบมากกว่า  ซึ่งยอมรับว่าภาคเอกชนส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี   ดังนั้นข้อเสนของภาคเอกชนตอนนี้ต้องการให้เลื่อนการปรับขึ้นค่าแรงออกไปหรือชะลอการปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ 

สำหรับมาตรการเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูจากผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รัฐบาลต้องมีโครงการช่วยเหลือเยียวยา ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม เช่น จัดตั้งกองทุนให้กับสถานประกอบการเอสเอ็มอี   เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถจ่ายค่าแรงในอัตรา300 บาท โดยไม่กระทบต่อต้นทุนการผลิต และกำไรของเอสเอ็มอี ในระยะยาว

นอกจากนี้ต้องสร้างกระบวนการพัฒนาทักษะแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพ ให้สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าจ้างต่อวันที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น 80 บาท แรงงานควรมีผลิตภาพ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับสถานประกอบการที่มากขึ้น ใกล้เคียงหรือมากกว่า 80 บาท  รวมทั้งเป็นการลดต้นทุนต่อหน่วยลง  เมื่อแรงงานสามารถผลิตสินค้าได้เพิ่มขึ้นในเวลาเท่าเดิม 

“การหารือวันที่ 8 พ.ย. จะสรุปผลกระทบทั้งหมดจากการปรับค่าแรง ซึ่งจะนำเสนอต่อนายกฯทันที โดยภาคเอกชนต้องการให้รัฐชะลอการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไว้ถึงปี 2558    แต่ถ้ารัฐบาลมีความจำเป็นต้องดำเนินการเรื่องนี้ ให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ ก็ควรจะพิจารณารับภาระเพื่อให้เกิดผลดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ”นายพยุงศักดิ์  กล่าว

การประกาศนโยบายปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท  ทั่วประเทศ  และได้ดำเนินการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทใน 7 จังหวัด  รวมทั้งปรับเพิ่ม 39.5% ใน70จังหวัดไปแล้วเมื่อวันที่ 1 เม.ย.  2555   ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ประกบการที่ใช้แรงงานเข้มข้นและเอสเอ็มอี ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงและมีบางส่วนต้องปิดหรือลดขนาดกิจการลง ประกอบกับรัฐบาลกำลังดำเนินการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ ในวันที่ 1 ม.ค. 2556