posttoday

เร่งแก้สัญญาปิโตรฯหมดอายุ

02 พฤศจิกายน 2555

กรมเชื้อเพลิงตั้งคณะทำงานศึกษาทางออกสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมหมดอายุ เพื่อไม่ให้กระทบผู้ใช้ในประเทศ

กรมเชื้อเพลิงตั้งคณะทำงานศึกษาทางออกสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมหมดอายุ เพื่อไม่ให้กระทบผู้ใช้ในประเทศ

นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุดเพื่อแนวทางที่เหมาะสมกรณีสัมปทานปิโตรเลียมของบริษัท เชฟรอน และบริษัท ปตท.ผลิตและสำรวจปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) หมดอายุในปี 2565 และไม่สามารถต่ออายุได้อีก ควรจะดำเนินการอย่างไรต่อ เพื่อให้การผลิตก๊าซธรรมชาติใช้ในประเทศไม่ได้รับผลกระทบและไม่มีความเสี่ยงด้านพลังงาน

ทั้งนี้ ให้เวลา 6 เดือนในการศึกษารูปแบบการดำเนินการที่เหมาะสม โดยนำกรณีตัวอย่างในต่างประเทศมาพิจารณาควบคู่กันไป ซึ่งมีทั้งการเปิดประมูลสัมปทานใหม่และให้ผู้ได้รับสัมปทานเดิมเข้าร่วมประมูลด้วย หรือการต่ออายุให้กับรายเดิม แต่ทั้งหมดจะต้องมีเงื่อนไขและผลตอบแทนที่คุ้มค่า ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะต้องกำหนดให้ชัดเจนอยู่บนพื้นฐานที่ทำให้ประเทศได้รับผลประโยชน์ดีที่สุด

สำหรับสัญญาสัมปทานของบริษัทเชฟรอน คือ แหล่งเอราวัณ มีกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟุต) /วัน ส่วนบริษัทปตท.สผ.คือแหล่งบงกช กำลังการผลิตก๊าซฯ630 ล้านลบ.ฟุต/วัน และแหล่งบงกชใต้  กำลังการผลิต 320 ล้านลบ.ฟุต/วัน โดยรวมแล้วมีกำลังผลิตก๊าซฯรวม 2,190 ล้านลบ.ฟุต/วัน ดังนั้นจำเป็นต้องกำหนดนโยบายให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการกับแหล่งสัมปทานเหล่านี้อย่างไรเพื่อให้เวลากับผู้ประกอบการในการเตรียมตัวและวางแผนการลงทุนในอนาคต

นายทรงภพ กล่าวว่า  พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับปัจจุบันได้กำหนดไว้ว่า อายุสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมของประเทศไทยจะต่ออายุได้เพียง1 ครั้ง
ในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี โดยแปลงปิโตรเลียมทั้ง 2สัญญา ได้รับการต่ออายุไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันการผลิตก๊าซฯจากอ่าวไทยอยู่ในระดับสูงสุดเฉลี่ย 2,300 ล้านลบ.ฟุต/วัน แต่ถ้าไม่มีการขุดเจาะสำรวจเพิ่มเติมอีก กำลังการผลิตก๊าซฯจะคงที่ไปอีก 5 ปี หลังจากนั้นจะเริ่มลดลงอาจกระทบกับการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้