posttoday

ยอดใช้แอลพีจีพุ่งเดือนละกว่ 6แสนตัน

24 ตุลาคม 2555

กรมธุรกิจพลังงานกุมขมับยอดใช้แอลพีจีพุ่งเดือนละกว่า 6 แสนตัน นำเข้าพุ่ง 1.6-1.7 แสนตัน ส่งสัญญาณผู้ค้าคุมยอดขายไม่ให้โต

กรมธุรกิจพลังงานกุมขมับยอดใช้แอลพีจีพุ่งเดือนละ 6.5 แสนตัน นำเข้าพุ่ง1.6-1.7 แสนตัน ส่งสัญญาณผู้ค้าคุมยอดขายไม่ให้โต

นายวีระพล   จิรประดิษฐกุล   อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน  เปิดเผยถึงสถานการณ์การใช้ก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 ว่า มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 6.05 แสนตัน/เดือน เพิ่มขึ้น 7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี2554 โดยภาคขนส่งมีการใช้เพิ่มขึ้นสูงสุด 15% ภาคครัวเรือน ขยายตัว 13.7 % ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมลดลง19%

ทั้งนี้ ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วยเฉลี่ยอยู่ที่1.6-1.7 แสนตัน/เดือน จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้เดือนละ 1.2-1.3 แสนตัน ซึ่งในช่วง 9 เดือนมียอดการนำเข้าแอลพีจีรวม 1.3 ล้านตัน/เดือน โดยรัฐจ่ายเงินชดเชยนำเข้าไป 2.8 หมื่นล้านบาท และคาดการณ์จนถึงสิ้นปีรัฐต้องจ่ายเงินรวม กว่า 4 หมื่นล้านบาท

ทางกรมธุรกิจพลังงานได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ค้าแอลพีจีพยายามควบคุมปริมาณการซื้อขายไม่ให้ขยายตัวมากเกินไป เพราะจะกระทบกับคลังจัดเก็บแอลพีจีที่รองรับไว้สำหรับการนำเข้า ซึ่งกำหนดไว้ไม่ควรจะนำเข้าเกิน 1.8 แสนตัน ไม่เช่นนั้นจะมีผลกระทบกับต้นทุนในการจัดเก็บเพิ่มขึ้นไปอีก เนื่องจากต้องเช่าเรือลอยลำเพื่อเก็บแอลพีจีในทะเลแทน

สำหรับที่น่าเป็นห่วงตอนนี้คือการใช้แอลพีจีครัวเรือนผิดประเภท ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่ามีการใช้แอลพีจีในเครื่องจักรกลการเกษตรมากขึ้น เช่น เครื่องสูบน้ำ  รถแทรคเตอร์  รถไถ  รถยกของ เนื่องจากน้ำมันมีราคาสูง เกษตรกรมีการดัดแปลงเครื่องยนต์ทั้งที่คนไทยผลิตเองและมีการผลิตจากต่างประเทศ  อย่างกรณีของรถยกของมีการติดตั้งนำเข้าจากเกาหลี

"ถ้ายังไม่มีการเดินหน้าปรับขึ้นราคาแอลพีจี จะทำให้ยอดนำเข้าสูงไปถึง 1.7-1.8 แสนตันในปี2556 แน่นอน ทางกรมฯพยายามประสานกับผู้ค้าแอลพีจีในการควบคุมปริมาณซื้อขายแอลพีจีจากโรงแยกฯไม่ควรจะขยายตัวมากเกินไป เกรงจะมีปัญหาในเรื่องปริมาณการนำเข้าที่สูงมาก เพราะไม่มีอำนาจในการควบคุมโดยตรงทำได้ในลักษณะขอความร่วมมือทางอ้อมมากกว่า"นายวีระพลกล่าว

นายวีระพล กล่าวถึงกรณีมีผู้ใช้รถยนต์เอ็นจีวีบางกลุ่มได้ดัดแปลงวาล์วหัวถังด้วยการติดตั้งท่อก๊าซและหัวเติมก๊าซแอลพีจีเพิ่มเติมเข้ากับถังเอ็นจีวี เพื่อให้สามารถเติมได้ทั้งเอ็นจีวีและแอลพีจี ในรถคันเดียวได้ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีความเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อการใช้งานและอาจเกิดการระเบิดได้  หากมาตรฐานในการติดตั้งอุปกรณ์ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายของกรมการขนส่งทางบกกำหนดไว้

ทั้งนี้ ได้จัดทำสติ๊กเกอร์คำเตือนให้กับพนักงานปั๊มแอลพีจีเพื่อตรวจสอบรถยนต์ทุกคันก่อนที่จะเติมแอลพีจี ให้ลูกค้า ดังนี้ 1.ห้ามเติมแอลพีจีให้รถที่ไม่มีสติ๊กเกอร์ที่ระบุว่า"รถใช้แอลพีจี" 2.รถที่มีสติ๊กเกอร์ "เอ็นจีวี" หรือ  "ซีเอ็นจี" ห้ามนำมาเติมแอลพีจี และ3.รถที่มีสติ๊กเกอร์ทั้ง 2 ประเภท ซึ่งเป็นรถที่ใช้เชื้อเพลิงได้ทั้ง2แอลพีจีและเอ็นจีวี จะต้องตรวจสอบว่าติดตั้งถังเอ็นจีวีและถังแอลพีจีหรือไม่ ถ้ามีเฉพาะถังเอ็นจีวีก็ห้ามเติมแอลพีจีให้