posttoday

ขู่ขึ้นค่าไฟ4บาทปีหน้าสินค้าแพงแน่

23 ตุลาคม 2555

ภาคเอกชนวอนชะลออย่าขึ้นค่าไฟ 4 บาท กระทบต้นทุนเพิ่มเกือบ 10% ซ้ำเติมสินค้าแพงขึ้นเบิลจากค่าจ้างและฉุดความสามารถแข่งขัน

ภาคเอกชนวอนชะลออย่าขึ้นค่าไฟ 4 บาท กระทบต้นทุนเพิ่มเกือบ 10% ซ้ำเติมสินค้าแพงขึ้นเบิลจากค่าจ้างและฉุดความสามารถแข่งขัน

ขู่ขึ้นค่าไฟ4บาทปีหน้าสินค้าแพงแน่

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากค่าไฟฟ้าในปี 2556 ขยับขึ้นมาทะลุ 4 บาท/หน่วย จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 3.71 บาท/หน่วยจริง คงกระทบภาคอุตสาหกรรมแน่นอน เพราะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าจะเพิ่มเกือบ 10% ยิ่งเป็นการซ้ำเติม ทำให้ขีดความสามารถการแข่งขันผู้ประกอบการส่งออกของไทยแย่ลงไปกว่าเดิม เพราะขณะนี้ภาคการส่งออกของไทยเองก็ไม่ดี แถมปีหน้ายังเจอปัญหาเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศอีก

“รัฐบาลต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้ดี ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นปัญหาที่ไปทับถมในปีหน้า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะโดนไปหมด เพราะไฟฟ้าเป็นต้นทุนการผลิตของทุกอุตสาหกรรม กลัวว่าอาจทำให้ราคาสินค้าขยับขึ้นตามไปด้วย” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม อยากให้ภาครัฐพิจารณาหาทางช่วยชะลอผลกระทบที่จะเกิดขึ้นดังกล่าวออกไปก่อน จนกว่าเศรษฐกิจในประเทศจะฟื้นตัวดีขึ้นกว่านี้ เพราะปัจจุบันหวังพึ่งตลาดส่งออกก็คงไม่ได้ หรือควรชะลอออกไปจนกว่าจะหาพลังงานทดแทนตัวอื่นๆ ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่านี้มาทดแทนได้

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันภาคเอกชนก็ต้องช่วยรับภาระจากมาตรการผู้ใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วย/ครัวเรือนฟรีอยู่แล้ว หากจะมีการขยับฐานราคาค่าไฟฟ้าจากระดับ 3 บาทขึ้นไป อยู่ที่ระดับ 4 บาท/หน่วยอีก คงทำให้ภาระต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าเยอะ เช่น อุตสาหกรรมอาหารที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการสตรีมอาหาร และอุตสาหกรรมเหล็กที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการหลอม

“ที่ผ่านมาเข้าใจว่า รัฐบาลมีมาตรการช่วยตรึงราคาไฟฟ้ามาตลอด เพื่อช่วยผ่อนคลายผลกระทบแต่ก็สามารถทำได้ชั่วคราว เพราะต้องหาแหล่งที่มาของเงินในการเข้ามาอุดหนุน ภาคเอกชนเองก็พยายามปรับตัวมาตลอดเพื่อให้อยู่ได้ ซึ่งปีหน้าคงเป็นปีที่ภาคเอกชนเหนื่อย เพราะต้องปรับตัวตั้งรับให้ทันทั้งเรื่องค่าจ้าง ค่าไฟฟ้า ค่าวัตถุดิบต่างๆ ที่จะเพิ่มขึ้น” นายพยุงศักดิ์ กล่าว

นายพงษ์ดิษฐ์ พจนา รองผู้ว่าการกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ. กล่าวว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าที่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนเชื้อเพลิงนั้น หากรัฐบาลต้องการให้ กฟผ.ช่วยรับภาระในการตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ออกไปอีก ก็ต้องปฏิบัติตามนโยบาย เพื่อเป็นการดูแลค่าครองชีพของประชาชน แต่อาจมีผลต่อสภาพคล่องของ กฟผ.บ้าง เนื่องจากแต่ละปีมีแผนที่ต้องใช้งบลงทุนในเรื่องของโรงไฟฟ้าใหม่และระบบสายส่ง

ด้านที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 22 ต.ค. มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เสนอให้เลื่อนเวลายกเลิกจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 จากเดิมวันที่ 1 ต.ค.นี้ เป็นวันที่ 1 ต.ค. 2556 โดยให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ปรับส่วนต่างราคาแก๊สโซฮอล์ 91 และ อี20 มากขึ้น เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ อี20 รวมทั้งเห็นชอบแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติในปี 2555-2573 โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานจัดทำแผนรองรับ กรณีจัดหาก๊าซฯ ไม่ได้ตามแผนที่กำหนด

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอขยายระยะเวลาการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกไปอีก 1 เดือน จากเดิมสิ้นสุดปลายเดือน ต.ค.นี้ เป็นสิ้นสุดปลายเดือน พ.ย. 2555 ซึ่งจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 9,000 ล้านบาท/เดือน เพื่อลดค่าใช้จ่ายของประชาชน