posttoday

คลังส่งหนังสือเตือนปม3จี-กสทช.ยันไม่มีฮั้ว

19 ตุลาคม 2555

คลังร่อนหนังสือ เตือนประมูล 3 จี ส่อฮั้ว ขณะกสทช. ยันโปร่งใสพร้อมให้ฝ่ายกม.แจง

คลังร่อนหนังสือ เตือนประมูล 3 จี ส่อฮั้ว ขณะกสทช. ยันโปร่งใสพร้อมให้ฝ่ายกม.แจง

 

คลังส่งหนังสือเตือนปม3จี-กสทช.ยันไม่มีฮั้ว

นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่าในฐานะประธานคณะกรรมการระเบียบพัสดุจัดซื้อจัดจ้าง (คกพ.) ได้มีหนังสือถึงประธานกสทช.แจ้งให้ทราบว่า การประมูล3จี ที่ผ่านมา ไม่เข้าข่ายประมูลแบบอี-อ็อคชั่น เพราะระเบียบประมูลอี-อ็อคชั่น ต้องมีของ คือ คลื่นความถี่ ที่ให้แข่งขันราคาได้ แต่ประมูล 3จีที่ผ่านมา กสทช.กำหนดคลื่นความถี่ประมูลไว้ 9 สล็อต
         
ขณะเดียวกันมีผู้เข้าประมูลเพียง 3 ราย ทำให้ไม่มีการเคาะราคาแข่งขัน แต่ในระเบียบจัดซื้ออี-อ็อคชั่นกำหนดไว้ชัดเจนว่า การประมูลต้องแข่งขันราคา
         
ทั้งนี้ กสทช.ไม่ควรปล่อยให้มีการประมูล แต่ต้องยกเลิกประมูล เมื่อเห็นว่ามีผู้เข้าประมูลเท่ากับจำนวนสิ่งของ นอกจากนั้นราคากลางที่ประมูลกำหนดไว้เพียง 4.5 พันล้านบาท ทั้งๆ ที่ที่ปรึกษาได้เสนอราคาประมูลไว้ที่ 6.4 พันล้านบาท ทำให้ผู้เข้าประมูลไม่ยอมเคาะหรือแข่งขันราคา เพราะรู้ว่าได้คลื่นความถี่อยู่แล้ว เนื่องจากคลื่นมีพอดีกับจำนวนผู้เข้าประมูล
         
นอกจากนั้น ในฐานะประชาชน ยังได้ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบการประมูลคลื่น 3จีของกสทช.ครั้งนี้ด้วยว่า อาจจะเข้าข่ายพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า หรือ พรบ.ฮั้ว เพราะลักษณะการดำเนินการ ไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคา หรือไม่ทำให้เอกชนสู้ราคากันอย่างแท้จริง
        
 "ในฐานะกระทรวงการคลังดูแลระเบียบพัสดุจัดซื้อจัดจ้าง จึงมีหนังสือเตือนไปว่าการประมูลดังกล่าวไม่เข้าข่ายอีอ็อคชั่น และอาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้เอกชน ที่สำคัญเป็นการนำทรัพย์สินของชาติไปเลหลังขายราคาถูกให้เอกชนที่มีทั้งไทยและต่างชาติ ทำให้ประเทศเสียประโยชน์" นางสาวสุภา กล่าว

ด้านนายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ หนึ่งในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวว่า หากกระทรวงการคลังส่งหนังสือสอบถามเรื่องผลประมูลใบอนุญาต 3G ย่านความถี่ 2.1 GHz มาทางฝายกฎหมาย กสทช.ที่ตั้งขึ้นมาก็พร้อมจะชี้แจงในประเด็นดังกล่าวว่าการประมูลไม่ได้มีการกระทำหรือมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในการผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542(พ.ร.บ.ฮั้ว) แต่อย่างใด
         
นายประเสริฐ กล่าวว่า การกระทำความผิดที่จะเกิดขึ้นได้ตาม พ.ร.บ.ฮั้ว ต้องมีการคัดค้านหรือกีดกันไม่ให้มีการแข่งขัน ไม่ให้มีผู้เข้าร่วมประมูล แต่ในการประมูลดังกล่าวมีผู้ประมูลด้วยความสมัครใจ ไม่มีการกีดกันแต่อย่างใด ซึ่งใน พ.ร.บ.ฮั้วไม่ได้มีถ้อยคำกำหนดว่าจะต้องมีการเคาะราคากี่ครั้ง และราคาประมูลที่ได้ต้องเพิ่มขึ้นจากราคาตั้งต้นเท่าไร