posttoday

เออาร์ เทคโนโลยี อีกขั้นเครื่องมือตลาดเสมือนจริง

18 ตุลาคม 2555

เออาร์คือเทคโนโลยีที่สร้างโฆษณาให้กับสินค้าและบริการได้อย่างแนบเนียน และดึงดูดความสนใจผู้บริโภคได้ดีกว่า

โดย...พรหมเมศร์ ศิริสุขวัฒนานนท์

หลายปีที่ผ่านมาผู้ใช้สมาร์ตโฟนเริ่มคุ้นเคยกับระบบคิวอาร์โค้ด เป็นโค้ดที่ใช้สำหรับเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว แม้การใช้งานในไทยจะไม่แพร่หลายเป็นที่นิยมมากนัก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเร็วอินเทอร์เน็ตไร้สายผ่านอุปกรณ์พกพายังช้าไม่ทันใจ จะหยิบจะจับใช้งานอะไรก็เลยไม่แจ้งเกิดเท่าที่ควร แต่ที่ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และหลายประเทศในยุโรปเป็นที่นิยมกันมาก

มาในวันนี้ เทคโนโลยีเออาร์ หรือ Augmented Realityity คือเทคโนโลยีที่ผสานเอาโลกเสมือนมาอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง และช่วยให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น ก่อนหน้านี้มีโทรศัพท์มือถือบางแบรนด์ รวมถึงแอพพลิเคชันไม่น้อยนำเทคโนโลยีเออาร์ไปผนวกเข้ากับระบบแผนที่นำทาง หากมีการติดตั้งแอพพลิเคชันเพียงยกกล้องถ่ายรูปขึ้น สามารถแสดงที่ตั้งของร้านค้า ปั๊มน้ำมัน ตู้เอทีเอ็ม ร้านอาหาร บนกล้องหรือบนแผนที่ได้ทันที อีกทั้งยังมีบางแบรนด์สินค้านำเทคโนโลยีนี้ไปสร้างกิจกรรมทางการตลาด ให้ผู้ใช้สมาร์ตโฟนเปิดกล้องถ่ายรูปในจุดต่างๆ จะพบสิ่งพิเศษ เช่น มีผีโผล่มาในกล้อง ซึ่งใช้กับเทศกาลฮัลโลวีน กดถ่ายภาพแล้วส่งมาร่วมสนุกได้

สรุปได้ว่าเออาร์คือเทคโนโลยีที่สร้างโฆษณาให้กับสินค้าและบริการได้อย่างแนบเนียน และดึงดูดความสนใจผู้บริโภคได้ดีกว่า

เออาร์ เทคโนโลยี อีกขั้นเครื่องมือตลาดเสมือนจริง

ถ้าถามว่าการโฆษณาแบบเดิมๆ คือ แบนเนอร์ที่โผล่ขึ้นมาบนแอพพลิเคชันหรือเว็บไซต์ผ่านสมาร์ตโฟน สร้างความน่ารำคาญให้ผู้ใช้ ไม่น่าจดจำ และไม่น่าสนใจ แต่ถ้าบอกว่าเออาร์สามารถทำลายข้อจำกัดดังกล่าวได้แล้ว โดยคาดการณ์ว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะกลายเป็นสื่อระดับแมสในยุโรปและอเมริกา นั่นเพราะทุกคนมีสมาร์ตโฟนรวมถึงสมาร์ตดีไวซ์อื่นๆ ติดตัวตลอดเวลา และเออาร์คือช่องทางใหม่ที่ไปพร้อมกับสื่อนั้นๆ ดังนั้นการเติบโตของการใช้งานจึงสอดคล้องไปกับตลาดสมาร์ตโฟน

ปิยพงศ์ สุทธาศวิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คลิก คอนเนค บริษัทไทยที่พัฒนาเทคโนโลยีและการใช้เออาร์แบบครบวงจร เปิดเผยว่า ในไทยการใช้เออาร์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ที่ผ่านมามีการใช้เพื่อสร้างความน่าสนใจให้การตลาด ใช้ดึงดูดผู้บริโภค ซึ่งในต่างประเทศมีการใช้งานในหลายลักษณะ เช่น การสร้างภาพจำลองบนแว่นตา กูเกิลได้พัฒนาสินค้า กูเกิลกลาส (Google Glass) เพื่อรองรับการใช้งาน ไม่ว่าจะมองไปทางไหนแว่นตาจะจับข้อมูลสิ่งที่มองไปและแสดงผลทันที เช่นเดียวกับการใช้งานบนคอนแทคเลนส์ แต่ทั้ง 2 แบบนี้คือการใช้งานแบบส่วนบุคคล

ส่วนต่อมาคือการใช้งานเออาร์กับคนทั่วไป ซึ่งจะมีผลในด้านการโฆษณา แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.คอมพิวเตอร์ดิสเพลย์ หรือการแสดงภาพจำลองบนคอมพิวเตอร์ 2.โมบายดิสเพลย์ การแสดงภาพจำลองบนอุปกรณ์พกพา และ 3.การแสดงภาพจำลองบนพื้นที่จริง ทั้งหมดคือการใช้เออาร์เป็นโฆษณาและเครื่องมือทางการตลาด ในอังกฤษมีบริษัท บลิปเออาร์ พัฒนาแอพ|เบราเซอร์ เมื่อส่องกล้องไปที่แบรนด์สินค้าที่เป็นพันธมิตรจะขึ้นรายละเอียดของสินค้าในทันที

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในไทยแล้ว เช่น ลูกอมคลอเร็ท พัฒนาแอพพลิเคชันให้ผู้ใช้สมาร์ตโฟนดาวน์โหลด เมื่อถ่ายรูปตราสินค้าคลอเร็ทจะได้ลูกเล่นมาเพิ่ม เช่น รูปพรีเซนเตอร์ บอย ปกรณ์ หรือวี แมกกาซีน ใช้การแสดงภาพจำลองเป็นชุดแต่งงานให้สาวๆ ได้ลองแบบ 3 มิติ

โรงพยาบาลกรุงเทพ (บีเอ็นเอช) มีการใช้เออาร์เมื่อใช้สมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตส่องไปที่ฉลากยา จะมีแพทย์มาอธิบายวิธีกินและใช้ยานั้นๆ รวมถึงใช้|เออาร์ร่วมกับอุปกรณ์คิเนคของไมโครซอฟท์ สร้างความสนุกสนานให้เด็กๆ ที่มาตรวจสุขภาพหรือรักษาอาการต่างๆ โดยมีเป้าหมายชัดเจนต้องการเป็นเออาร์ ฮอสพิทอล รายแรกในไทย

ปิยพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยที่จะสร้างเออาร์ให้เกิดขึ้น ต้องมีอุปกรณ์พกพา มีแอพพลิเคชัน มีมาร์กเกอร์ หรือวัตถุที่ใช้เป็นเป้าหมาย ซึ่งไม่จำกัดขนาด ใช้ได้ตั้งแต่นามบัตรจนถึงบิลบอร์ดโฆษณาขนาดใหญ่ และสุดท้ายคืออินเทอร์เน็ตไร้สาย เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทันที ซึ่ง 3จี คือปัจจัยที่จะทำให้เป็นที่นิยมในไทย

เออาร์ เทคโนโลยี อีกขั้นเครื่องมือตลาดเสมือนจริง

สำหรับ คลิก คอนเนค เป็นบริษัทคนไทยที่ร่วมทุนระหว่างบริษัท จิมมี่ซอฟต์แวร์ จากเชียงใหม่ และบริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) 1 ปีที่ผ่านมา ใช้งบประมาณไป 35 ล้านบาท เพื่อพัฒนาด้านนี้โดยเฉพาะ ทำให้ คลิก คอนเนค มีบริการที่ครบวงจรเกี่ยวกับเออาร์ ตั้งแต่การให้คำปรึกษา วางแผนการพัฒนา ต่อยอดทางการตลาด รวมถึงขยายผลการใช้งานในอนาคต ปัจจุบันมีสินค้าแบรนด์ไทยใช้งานเออาร์ประมาณ 10-20 ราย แต่ในปีหน้าเชื่อว่าจะมีมากขึ้น

“การใช้แบนเนอร์เป็นเรื่องน่าเบื่อ ไม่น่าจดจำ แต่ถ้าใช้เออาร์ผู้บริโภคต้องเล่นด้วย มีการอินเตอร์แอ็กทีฟกับแบรนด์นั้นๆ รับรองว่าได้เรื่องการจดจำ ความน่าสนใจมากกว่าแน่นอน และที่สำคัญจะเกิดการบอกต่อไปยังผู้บริโภคคนอื่นๆ เป็นการทำตลาดแบบปากต่อปากอีกด้วย” ปิยพงศ์ กล่าว

การทำตลาดในประเทศไทยนั้นจะเน้นใน 5 ธุรกิจที่มีโอกาสใช้งานได้มาก คือ 1.หน่วยงานราชการ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 2.องค์กรใหญ่ เช่น อสังหาริมทรัพย์ การศึกษา และโทรคมนาคม 3.กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 4.สำนักพิมพ์ต่างๆ และ 5.กลุ่มเอเยนซีที่จะเป็นตัวแทนไปสู่ผู้ใช้รายอื่นๆ นี่คือโอกาสในไทย ตั้งเป้าลูกค้า 30-40 รายในปีหน้า แต่ที่น่าสนใจกว่านั้น คือ ตลาดอาเซียนรวมถึงตลาดโลก เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดของเทคโนโลยีเออาร์คิดเป็นประมาณ 4% ของมูลค่าการโฆษณาทั่วโลก หรือคิดเป็น 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ การผลิตเออาร์จะไม่ใช่ในประเทศ

จากการสำรวจตลาดนักพัฒนาเทคโนโลยีเออาร์ในอาเซียนหรือเอเชีย ไม่มีบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีที่ครบวงจร จึงเป็นโอกาสในการทำตลาดและรับงานจำนวนมหาศาล โดยเบื้องต้นได้เป็นพันธมิตรกับบริษัทเอเยนซีในสิงคโปร์ มุ่งเน้นทำตลาดสิงคโปร์และมาเลเซีย รวมถึงเล็งตลาดฮ่องกงด้วย รวมถึงโอกาสในการทำตลาดผ่าเครือข่ายของบริษัท เอสไอเอสในอาเซียน

เออาร์ เทคโนโลยี อีกขั้นเครื่องมือตลาดเสมือนจริง