posttoday

จี้สนข.ทบทวนโอนรถไฟฟ้าสีเขียวให้รฟม.

16 ตุลาคม 2555

ปชป.จี้ สนข.เลิกประเคนรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้รถไฟฟ้ามหานคร อ้าง ทำประชาชนเดือดร้อนเสี่ยงค่าโดยสารพุ่ง

ปชป.จี้ สนข.เลิกประเคนรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้รถไฟฟ้ามหานคร อ้าง ทำประชาชนเดือดร้อนเสี่ยงค่าโดยสารพุ่ง

จี้สนข.ทบทวนโอนรถไฟฟ้าสีเขียวให้รฟม.

นายธนา ชีรวินิจ สส.กรุงเทพมหานคร (กทม.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงเรียกร้องให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม (สนข.) ทบทวนการโอนย้ายการบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่ และแบริ่ง-สมุทรปราการ) จากกทม. มาเป็นของรถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.) เนื่องจากจะสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน

นายธนา กล่าวว่า สนข.มีวาระการประชุมเรื่องดังกล่าวในวันที 17 ต.ค. แสดงให้เห็นว่าเป็นความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการล้วงลูกการทำงานของกทม.ในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทมในต้นปี 2556 ทั้งที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่ปี 2547 ในช่วงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีก็มีความเห็นชอบให้กทม.รับผิดชอบโครงการ จากนั้นได้มีมติครม.อีกหลายครั้งจนถึงปี 2553 ก็ยืนยันถึงสิทธิให้กทม.เป็นผู้บริหารการเดินรถและรับผิดชอบโครงการทั้งหมด รวมถึงการแบกรับค่าใช้จ่าย เพราะครม.เร่งเห็นว่าในเมื่อส่วนต่อขยายนี้เชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าบีทีเอสปัจจุบันซึ่งกทม.เป็นผู้บริหารอยู่แล้ว ดังนั้นหากให้กทม.บริหารส่วนต่อขยายจะทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้น และสามารถจัดการเดินรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ผลักภาระให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะค่าโดยสาร

นายธนา กล่าวอีกว่า หากสนข.ยืนยันจะโอนการบริหารส่วนต่อขยายมาให้รฟม.จะสร้างปัญหาใหญ่ด้วยกัน 2 ประการ 1.ต้นทุนการบริหารโครงการจะสูงขึ้น เพราะหน่วยงานที่จัดการการเดินทางเป็นคนละส่วนกัน 2.ประชาชนจะไม่ได้รับความสะดวกในการโดยสารรถไฟฟ้า เพราะจะต้องเสียเวลามาต่อรถไฟฟ้าระหว่างส่วนต่อขยายกับเส้นทางในปัจจุบัน ส่งผลให้ต้องเสียเวลาต่อรถไฟฟ้าถึง 3 ครั้ง และอาจเสียค่าโดยสารถึง 100 บาท

“ไม่มีการเดินรถที่ไหนในโลกทำกันแบบนี้ ในเมื่อกทม.เป็นผู้บริหารบีทีเอสอยู่แล้วก็สมควรได้รับการบริหารการเดินรถทั้งหมด ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐส่งเสริมการกระจายอำนาจดังนั้นก็ควรจะกระจายอำนาจการบริหารการเดินรถให้กทม.และที่สำคัญที่ผ่านมากทม.ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถบริหารบีทีเอสมีกำไรต่อเนื่อง ตรงกันข้ามกับรัฐบาลโดยที่ปล่อยให้รฟม.บริหารรถไฟฟ้าใต้ดินขาดทุนปีละหลายหมื่นล้าน เช่นเดียวกับรัฐบาลที่บริหารแอร์พอร์ตลิงค์ขาดทุนเช่นกัน” นายธนา กล่าว