posttoday

รีวิวแคนนอน650D"ครบ"ทุกการใช้งาน

11 ตุลาคม 2555

ลองใช้ แคนนอน650D ดีเอสแอลอาร์ที่ครบและครอบคลุมทุกรูปแบบการใช้งาน

ลองใช้ แคนนอน650D ดีเอสแอลอาร์ที่ครบและครอบคลุมทุกรูปแบบการใช้งาน

โดย...โยโมทาโร่

ผมว่าอนาคตช่างภาพอาชีพอาจมีร้อนๆ หนาวๆ กันบ้างเล็กน้อย หากกล้องดิจิตอลคอมแพกต์รุ่นใหม่ๆ สามารถเนรมิตภาพได้ดังฝันเพียงแค่ ยกเล็งและกดชัตเตอร์ แล้วที่เหลือกล้องจะจัดการให้เราเองทั้งหมดหรือนำมาปรับแต่งภายในกล้องเพียงไม่กี่คลิก และที่สำคัญคือตัวกล้องต้องอยู่ในราคาที่ทุกคนเอื้อมถึง

รีวิวแคนนอน650D"ครบ"ทุกการใช้งาน

ทำให้ผู้ใช้หลายคนมองว่าแค่กล้องคอมแพกต์ดีๆ สักตัวก็พอแล้วสำหรับการถ่ายภาพครอบครัวและภาพสำหรับท่องเที่ยว ว่าแล้วแคนนอนก็ปล่อยตัวแคนนอน 650D ออกมาให้เราผู้ใช้ลังเลกันอีกครั้ง โดยเลือกใช้ชิปประมวลผลตัวใหม่ Digic5 ช่วยลดสัญญาณรบกวนของภาพให้ดียิ่งขึ้น พ่วงด้วยความสามารถอันล้นเหลือชนิดที่เรียกได้ว่าข้ามรุ่นไปชกกับรุ่นพี่ 7D หรือ 5D ได้สบายๆ มากเป็นตัวชูโรง ตามด้วยอาวุธชิ้นใหม่ให้นักถ่ายภาพมือสมัครเล่นไปถึงเทิร์นโปรสร้างสรรค์ภาพได้อย่างใจนึกอย่างเลนส์รุ่นใหม่อีก 2 ตัว คือ เลนส์ EF-S18-135mmf/3.5-5.6 IS STM และเลนส์แพนเค้ก EF40mm f/2.8 STM ที่ใส่มอเตอร์ตัวใหม่รองรับการถ่ายภาพวิดีโอและช่วยให้การโฟกัสภาพอัตโนมัติ ต่อเนื่องและแม่นยำมากขึ้น

รวมทั้งวางตำแหน่งเลนส์และเคลือบเลนส์อย่างพิถีพิถันเพื่อลดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดดวงไฟ หรือแสงสว่างจ้าในภาพ ปรับเปลี่ยนม่านรับแสง Iris Blade ใหม่เพื่อให้ได้พื้นหลังของภาพที่เบลอสวยงาม ซึ่งผมเชื่อว่านี่คือก้าวแรกของการพัฒนากล้องและเลนส์ของแคนนอนก้าวใหม่ ที่ควรจับตามองอย่างมาก

650D มีดีอะไรใหม่

ตอนนี้อีกไม่กี่เดือนก็ใกล้จะถึงฤดูกาลท่องเที่ยวหน้าหนาว เชื่อว่าคนที่มองหากล้องตัวใหม่คงกำลังลังเลอยู่ระหว่าง 2 รุ่น คือ 600D กับ 650D ซึ่งผมขอเลือกเปรียบเทียบเฉพาะ 2 รุ่นนี้ ซึ่งผู้ใช้สนใจมากที่สุดและมีราคาแตกต่างกันที่ประมาณ 1 หมื่นบาท ดังนั้น 650D มีอะไรที่ใหม่กว่าดีกว่าจนเราควรตัดสินใจเพิ่มเงินซื้อ เราไปดูพร้อมผลการใช้งานจริงของเรากันดีกว่าครับ

อย่างแรก คือ ชิปประมวลผลภาพ Digic5 ที่ช่วยให้ลดจุดรบกวนของภาพให้ดีมากขึ้น ประมวลผลได้เร็วขึ้นกินพลังงานลดลง แต่จากการทดสอบของเรา ต้องบอกตามตรงว่ายังไม่เห็นผลตรงจุดนี้มากนักเพราะตัว Digic4 ในกล้อง 550D และ 600D เดิมทำไว้ดีมาก ดังนั้นของใหม่ก็น่าจะดีกว่า แต่ในด้านความรู้สึกจากภาพที่ได้ยังไม่ชัดเจน รวมทั้งบางช็อตดูเหมือนไวต์บาลานส์จะเปลี่ยนไปตามใจกล้อง ทั้งที่อยู่ในสถานที่โหมดวัดแสงและสภาพแสงเดียวกันทั้งสิ้น สร้างความรำคาญใจพอสมควร จนเราต้องเปลี่ยนไปใช้โหมดแมนนวลทั้งหมดอาการที่ว่านี้จึงจะหายไป

ต่อมาก็คือโหมดโฟกัสภาพแบบครอสไทป์ 9 จุด ผมว่านี่คือจุดสำคัญที่ทำให้กล้อง 650D ใกล้เคียงรุ่นโปรมากขึ้น เพราะจุดครอสไทป์เดิมในซีรีส์เลข 3 หลักจะมีมาให้เพียงจุดเดียวคือตรงกลางเท่านั้น แต่คราวนี้ให้มากถึง 9 จุด ทำให้เราสามารถเลือกโฟกัสบริเวณจุดตัด 9 ช่องได้ง่ายดายและแม่นยำมากขึ้น ผมมองว่าความสามารถจุดนี้ล้ำหน้า 600D อยู่หลายช่วงตัว

รวมทั้งเสียงเรียกร้องของสาวกแคนนอนที่อยากได้ระบบถ่ายภาพวิดีโอเต็มรูปแบบในรุ่น 650D นี้รองรับการถ่ายวิดีโอตั้งแต่ระดับมือสมัครเล่นไปจนถึงระดับมืออาชีพ ด้วยการโฟกัสอัตโนมัติในโหมดถ่ายภาพวิดีโอ (ซึ่งน่าจะมีมานานแล้ว) รวมทั้งไมโครโฟนอัดเสียงสเตริโอ (นี่ก็ควรจะมีมานานแล้วเช่นกัน) ทำให้รุ่นนี้ไม่มีอะไรที่น้อยหน้าไปกว่าค่ายอื่นๆ อีกแล้ว

รีวิวแคนนอน650D"ครบ"ทุกการใช้งาน

มาถึงความแตกต่างหลักๆ ในจุดสุดท้ายก็คือ หน้าจอทัชสกรีน จากความเห็นส่วนตัวของผมจากการลงพื้นที่ถ่ายภาพ ผมว่าเป็นอะไรที่สะดวกดี ในการเข้าปรับโหมดต่างๆ ได้ด้วยการแตะหน้าจอเพียงไม่กี่ครั้ง เช่น เปลี่ยนความละเอียดภาพ ปรับโหมดวัดแสง ปรับโหมดไวท์บาลานส์ และโหมดอื่นๆ อีกมากมายที่สามารถปรับตั้งได้ทีหลัง

เวลาดูภาพย้อนหลังก็แค่ใช้นิ้วเลื่อนดูภาพ ย่อขยายเหมือนตอนดูภาพในไอโฟนกันเลยทีเดียว ตรงจุดนี้สำหรับช่างภาพแล้วเป็นสิ่งสร้างความสะดวกครับทำให้เขาดูภาพได้เร็วขึ้น ส่วนการใช้งานในโหมดไลฟ์วิวต่อบอกว่าช้าเหมือนเดิม แต่ดีขึ้นตรงที่เราสามารถแตะเลือกจุดโฟกัสได้ที่หน้าจอเลย เหมาะสำหรับช่างภาพสูงวัยที่สายตาเริ่มพร่ามัว ผมมองว่านี่เป็นการเอาใจช่างภาพหลายๆ กลุ่มเพราะแต่ละคนก็ต้องการความสามารถที่แตกต่างกันออกไปซึ่ง 650D อาจจะเป็นรุ่นแรกในรอบ 5 ปี ของแคนนอนที่จัดเต็มมาครบ

เลนส์ใหม่ดีตรงไหน

ในชุดทดสอบเราได้ใช้เลนส์ตัวใหม่และเลนส์แพนเค้ก EF40mm f/2.8 STM ในส่วนของ 18-135 IS STM นั้น การโฟกัสภาพยังทำได้รวดเร็วกว่าเดิมและยิ่งออกแบบมาเข้าชุดกับกล้อง 650D ด้วยแล้วยิ่งกลายเป็นคู่หูที่ลุยถึงไหนถึงกันสามารถถ่ายได้ทุกสถานการณ์ EF-S18-135mm f/3.5-5.6 IS STM ตั้งแต่วิวฟ้ากว้างไปจนถึงผีเสื้อที่ปลายเกสร ช่วงโฟกัสมาโครของเลนส์ตัวนี้จะอยู่ที่ประมาณ 27-30 ซม. ใกล้กว่าเลนส์ตัวเดิมเล็กน้อย และดูเหมือนกว่าภาพที่ได้จากเลนส์ตัวนี้จะออกโทนสีสันจัดจ้านคอนทราสต์สูงกว่าอีกด้วย

ส่วนเลนส์แพนเค้ก EF40mm f/2.8 STM เป็นตัวที่เราประทับใจมากที่สุดเพราะเป็นทางเลือกใหม่ของเลนส์ถ่ายภาพบุคคล โดยปกติแล้วคนเล่นกล้องแคนนอนจะเลือกใช้เลนส์ 50 F1.8 ที่มีราคาไม่แพงแต่ได้ภาพที่สวยงาม แต่ข้อบกพร่องก็คือ แสงในภาพจะดูจะฟุ้งกระจายมาก แต่สำหรับ 40 mm f/2.8 จะใช้เลนส์ Aspheric ตั้งแต่จุดศูนย์กลางไปจนถึงเส้นรอบวงวางตำแหน่งเลนส์และเคลือบปิด เพื่อลดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดดวงไฟ หรือแสงสว่างจ้าในภาพ

รีวิวแคนนอน650D"ครบ"ทุกการใช้งาน ภาพที่ได้จากกล้อง

ภาพที่ได้จากการทดสอบของจึงเป็นภาพที่คมชัดกว่า 50 mm ระยะห่างจากแบบน้อยลง เพราะช่วงเลนส์กว้างขึ้น ข้อเสีย ก็คือค่ารู้รับแสงไม่กว้างเท่าทำให้การละลายฉากหลังน้อยกว่า และดูเหมือนว่า ช่วงรูรับแสงที่ดีที่สุดของเลนส์ตัวนี้จะอยู่ที่ f 3.5 ลดลงมา 1 สตอปภาพที่ได้จะมีสีสัน คมชัด ดูสวยงามสบายตา ฉากหลังละลายอย่างเป็นธรรมชาติมาก ผมว่าถ้าคนที่มีกล้องและกำลังหาเลนส์เสริมผมแนะนำตัว EF40mm f/2.8 STM นี้ เป็นเลนส์ที่คุ้มค่ามากครับเพราะนอกจากถ่ายภาพบุคคลเดี่ยวๆ ได้สวยแล้ว เอาไปถ่ายภาพกลุ่มเพื่อนๆ 4-5 คนโดยที่ไม่ต้องใช้ช่วงซูมเท้า (เดินถอยหลัง) มากนัก

โดยรวมแล้วแคนนอน 650D พร้อมเลนส์ EF-S18-135mm ในราคาเปิดตัวประมาณ 4 หมื่นบาท (เอื๊อก...) พร้อมกับเลนส์ EF40mm f/2.8 ในราคาประมาณ 6,500 บาท นับเป็นทางเลือกสำหรับคนที่กำลังมองหากล้องดีเอสแอลอาร์ชั้นดีสักตัว เพราะทุกอย่างได้ครบซื้อแล้วแทบจะไม่ต้องหาอุปกรณ์เสริมเพิ่ม ขออย่างเดียวเท่านั้นซื้อแล้วต้องขยันถ่ายขยันเที่ยว ถ่ายภาพสวยๆ ให้คุ้มอายุใช้งานชัตเตอร์

ซื้อมาแพงแค่ไหนไม่นานก็คุ้มแน่นอนครับ

รีวิวแคนนอน650D"ครบ"ทุกการใช้งาน

*****************************

ข้อมูลจำเพาะ
ความละเอียดเซนเซอร์รับภาพ 18 ล้านพิกเซล CMOS APS-C (22.3 x 14.9 mm)
โปรเซสเซอร์ Digic 5
ความเร็วชัตเตอร์ 30-1/4000
การโฟกัสครอสไทป์ 9 จุด
ความไวแสง 100-12800 มีระบบซิงก์แฟลชเสริมภายนอกในตัว
ถ่ายวิดีโอความละเอียดสูง Full HD (1920x1080 พิกเซล ที่ 24p, 25p, or 30p)
มิติตัวกล้อง กว้าง สูง ลึก 133x100x79 mm
น้ำหนักตัวกล้อง 575 กรัม

รีวิวแคนนอน650D"ครบ"ทุกการใช้งาน