posttoday

เล็งจัดงานมหกรรมหนังสือภูธร3จังหวัด

02 ตุลาคม 2555

สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯเล็งจัดงานมหกรรมหนังสือฯตลาดภูธร เพิ่ม 3 จ. หาดใหญ่ อุดรธานี เชียงใหม่

สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯเล็งจัดงานมหกรรมหนังสือฯตลาดภูธร เพิ่ม 3 จ. หาดใหญ่ อุดรธานี เชียงใหม่

นายวรพันธ์ โลกิตสถาพร นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยว่า สมาคมฯอยู่ระหว่างการศึกษาความพร้อมของผู้ประกอบการต่างจังหวัด รวมถึงความต้องตลาด สำหรับขยายพื้นที่จัดงานมหกรรมหนังสืออีก 3 จังหวัด ได้แก่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อุดรธานี และเชียงใหม่ จากปัจจุบันได้นำร่องจัดงานที่อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และอุบลราชธานี เพื่อส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่าน รวมถึงผลักดันให้อุตสาหกรรมหนังสือเติบโตกว่าเท่าตัว เฉลี่ยกว่า 10% ต่อปี เทียบกับปัจจุบัน 5% ต่อปี

ทั้งนี้นี้การจัดงานดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นความสนใจในการอ่านหนังสือ เพราะต่างจังหวัดเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสื่อออนไลน์ และไลฟ์สไตล์การใช้เทคโนโลยีน้อยกว่าเขตกรุงเทพฯ ซึ่งผลวิจัยการสำรวจพฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนไทย ระหว่างเดือนพ.ค.-มิ.ย. จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ  พบว่าเด็กในเขตเทศบาลอ่านหนังสือมากกว่าเด็กนอกเทศบาล โดยเด็กเล็กในกรุงเทพอ่านสูงสุด สัดส่วน 67.2 % ขณะที่ภาคกลางเด็กอ่านหนังสือต่ำสุด สัดส่วน 47.4%

นอกจากนี้การอ่านหนังสือนอกเวลาและนอกเวลาทำงานของคนไทน อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป มีอัตราการอ่าน 68.8% โดยผู้ชาย 69.3% ผู้หญิง 68.3% และกรุงเทพยังมีพื้นที่การอ่านหนังสือสูงสุด สัดส่วน 89.3% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่มีอัตราการอ่านน้อยที่สุด 62.8% ซึ่งผู้อ่านหนังสือนอกเวลาอยุ 6 ขวบขึ้นไป เฉลี่ย 35 นาที/วัน กลุ่มเด็กและเยาวชน อ่านเฉลี่ย 40-41 นาที/วัน กลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ อ่านเฉลี่ย 31-32 นาที/วัน

“จากสถิติ เมื่อทียบกับข้อมูลปี 2551 พบว่า อัตราการอ่านหนังสือของคนไทยมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เพราะไลฟ์สไตล์การใช้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และคนไทยที่มีฐานะเศรษฐกิจดีจะอาจหนังสือมากกว่าพื้นที่ความเป็นอยู่ไม่สู้ดีนัก” นายวรพันธ์ กล่าว

ด้านกำลังซื้อของคนไทย ในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา มีกำลังซื้อลดลง เนื่องจากไม่มั่นใจต่อสภาวะเศรษฐกิจประเทศ มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วม ซึ่งส่งผลต่อธุรกิจหนังสือให้มียอดขายลดลง 5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  ขณะที่ไตรมาส 3 และ 4 ที่จะถึงนี้ คาดว่าภาพรวมกำลังซื้อจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะไตรมาสที่ 4 สมาคมฯ เตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อรณรงค์ให้คนไทยซื้อหนังสือเป็นของขวัญมากขึ้น

นายวรพันธ์  กล่าวว่า นอกจากนี้สมาคมฯ ได้ใช้งบประมาณจำนวน 30 ล้านบาท จัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 18-28 ต.ค. บริเวณศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยรวบรวมผู้ผลิตหนังสือ นักเขียน ฯลฯ กว่า 1,000 บูธ บนเนื้อที่ 2.2 หมื่นตารางเมตร  ร่วมลดราคา 10-80%

ทั้งนี้คาดว่าการจัดงาน 10 วัน จะมีผู้เข้าชม 1.5 ล้านคน รายได้สะพัด 400 ล้านบาท เทียบจากครั้งที่ผ่านมา 300-350 ล้านบาท ซึ่งสมาคมฯคาดว่างานดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมให้คนไทยนิยมอ่านหนังสือ โดยในปีนี้คาดว่าตลาดจะเติบโตเฉลี่ย 5% เทียบจากปีที่ผ่านมามีมูลค่าตลาด 2.18 หมื่นล้านบาท

ด้านราคาหนังสือในปีนี้ ยังไม่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งราคาหนังสือในประเทศไทยไม่มีการปรับขึ้นนานกว่า 5-7 ปี หากขึ้นราคาสูงจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ ทั้งๆที่ราคาต้นทุนการผลิต เช่น ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท ได้กระทบต่อสำนักพิมพ์ไปบางส่วนแล้ว โดยเรื่องดังลก่าวสำนักพิมพ์ต้องเร่งปรับตัวควบคุมต้นทุนการผลิต

นอกจากนี้ผู้ผลิตต้องปรับกลยุทธ์รับมือกับสื่อออนไลน์ที่เข้ามา โดยต้องผลิตสินค้าใน 2 ช่องทาง ทั้งสิ่งพิมพิ์ และระบบออนไลน์ เพื่อประคองให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไปได้