posttoday

ทายาทโพธสุธนป่วนประมูล 3 จี

28 กันยายน 2555

ทายาท โพธสุธน นำทานตะวัน เทเลคอมมูนิเคชั่น โผล่ป่วนยื่นซองประมูล 3 จี

ทายาท โพธสุธน นำทานตะวัน เทเลคอมมูนิเคชั่น โผล่ป่วนยื่นซองประมูล 3 จี

นายยุทธนา โพธสุธน ที่ปรึกษา บริษัท ทานตะวัน เทเลคอมมูนิเคชั่น เปิดเผยว่า  ตั้งใจเข้ายื่นการประมูลใบอนุญาตให้บริการ หรือ ไลเซ่นส์ 3 จี 2.1 กิกะเฮิร์ตซ ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดรับเมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา  แต่เนื่องจากเอกสารไม่ครบในเวลาที่ 16.30 น. ซึ่งเป็นเวลาปิดรับ ส่งผลให้ กสทช.ไม่สามารถรับใบสมัครเข้าร่วมได้

ทั้งนี้ นายยุทธนาได้เดินทางมาถึงกสทช.เวลา 16.20 น. ก่อนหมดเวลารับสมัครเพียง 10 นาที มีเพียงค่าธรรมเนียมการสมัครจำนวน 5 แสนบาท และหนังสือรับรองทางการเงิน แต่ขาดเอกสารอื่นๆ  รวมถึงค่ามัดจำการเข้าร่วมประมูล 1,350 ล้านบาท ส่งผลให้ต้องเดินทางกลับโดยไม่สามารถยื่นคำร้องขอเข้าร่วมประมูลได้

สำหรับนายยุทธนา เป็นบุตรของนายประภัตร โพธสุธน อดีตเลขาธิการพรรคชาติไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเมื่อปี 2553 ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช.  เปิดประมูลไลเซ่นส์ 3 จี นายยุทธนาก็ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน คือ นำบริษัท วิน วิน เอ็นจีวี ยื่นในนาทีสุดท้ายและเอกสารไม่ครบเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้  บริษัททานตะวันฯ ยังเพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำทั้ง 2 ครั้งที่เกิดขึ้นเพื่อต้องการให้บริษัทมีส่วนเกี่ยวข้องในการประมูล และสามารถยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ตรวจสอบการประมูลได้  แต่นายยุทธนายืนยันว่า  ต้องการเข้าร่วมประมูลจริง เนื่องจากมีพันธมิตรธุรกิจเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่จากประเทศจีน โดยต้องการประมูล 3 ใบ 15 เมกะเฮิร์ตซ เท่ากับทั้ง 3 บริษัทที่เข้าร่วมประมูลครั้งนี้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า หนังสือรับรองของบริษัททานตะวันนั้นเป็นการออกโดยสถาบันการเงินต่างประเทศไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย  และเอกสารต่างๆ ก็ไม่ครบซึ่งผิดเงื่อนไขที่กสทช.กำหนด ทำให้กสทช.ไม่สามารถรับบริษัทนี้เข้าร่วมได้

ขณะที่บริษัทที่มายื่นขอประมูลมีทั้งหมด 3 ราย คือ  บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค บริษัท ดีแทค เน็ทเวอร์คและ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์  ซึ่งเป็นบริษัทลูกของผู้ประกอบการรายเดิม คือ คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค และ บริษัท ทรูมูฟ

อย่างไรก็ตาม การที่มีผู้เข้าร่วมเพียงแค่ 3 รายไม่ถือเป็นการแบ่งผลประโยชน์คลื่นความถี่ให้ลงตัว คือ รายละ 15 เมกะเฮิร์ตซ เนื่องจากกสทช. ได้ดำเนินการทุกอย่างโดยถูกต้อง และผู้ประกอบรายเล็กติดปัญหาเรื่องหนังสือรับรองทางการเงินที่ธนาคารไม่สามารถรับรองได้