posttoday

ดัชนีผลผลิตอุตฯเดือนส.ค.ติดลบ11.32%

28 กันยายน 2555

เอ็มพีไอเดือนส.ค.ติดลบ 11.32% วิกฤตยุโรปกระทบภาคการผลิตชัดเจน สศอ.เตรียมปรับประมาณการเอ็มพีไอทั้งปีลง 1% เตือนส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปตลาดจีน อาเซียน ญี่ปุ่น ติดลบแล้ว

เอ็มพีไอเดือนส.ค.ติดลบ 11.32% วิกฤตยุโรปกระทบภาคการผลิตชัดเจน สศอ.เตรียมปรับประมาณการเอ็มพีไอทั้งปีลง 1% เตือนส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปตลาดจีน อาเซียน ญี่ปุ่น ติดลบแล้ว  

นายหทัย อู่ไทย  รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ประจำเดือนส.ค. 2555 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 174.11 จากระดับ 196.33 ในปี 2554 ติดลบ 11.32% มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 65.36% ลดลงเล็กน้อยจากปี 2554 ที่อยู่ระดับ 65.61% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้การผลิตเพื่อการส่งออกปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงมาก ได้แก่ กลุ่มอาหารทะเลกระป๋องและแช่เข็ง ซึ่งมียอดการผลิตลดลง 12.54% และยอดจำหน่ายลดลง 22.53% โดยเฉพาะสินค้ากุ้ง เนื่องจากความต้องการซื้อไม่สอดคล้องกับวัตถุดิบ ขนาดกุ้งไม่เป็นไปตามความต้องการของลูกค้า รวมถึงตลาดยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักอยู่ในภาวะซบเซา ขณะที่กลุ่มการแปรรูปผักและผลไม้ การผลิตปรับตัวลดลง 52.6% และการจำหน่ายลดลง 18.97% เพราะผลผลิตลดลงตามฤดูกาล รวมทั้งการส่งออกสัปปะรดชะลอตัวลงอย่างมาก จากตลาดยุโรปที่มีคำสั่งซื้อน้อย และการผลิตน้ำผลไม้ลดลง 47.02% และการจำหน่ายลดลง 5.34%

 ขณะเดียวกัน การผลิตเครื่องแต่งกาย สิ่งทอ การผลิตลดลง 7.83% และจำหน่ายลดลง 11.22% เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดหลักลดลง ส่วนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ การผลิตและจำหน่ายลดลง 38.42% และ 38.49% ตามลำดับ เนื่องจากบางบริษัทยังไม่สามาทำการผลิตได้เต็มที่จากผลกระทบของน้ำปัญหาน้ำท่วมในปี 2554 นอกจากนี้บางบริษัทได้รับคำสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทแม่น้อยลง เพราะไม่มั่นใจสถานการณ์น้ำท่วมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ทำให้บริษัทแม่จำเป็นต้องกระจายการผลิตไปยังประเทศอื่น

สำหรับแนวโน้มค่าดัชนีในเดือนก.ย. 2555 คาดว่าจะติดลบอย่างแน่นอน เพราะการผลิตในเดือนก.ย. 2554 มีค่าดัชนีแตะอยู่ที่ระดับ 200 กว่า ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงมาก เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เร่งผลิตหลังจากเหตุการณ์สึนามิในช่วงต้นปี ดังนั้นในเดือนก.ย.สศอ.จะปรับประมาณการดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลงประมาณ 1% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าทั้งปีค่าดัชนีเอ็มพีไอจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 6-7% แต่เชื่อว่าทั้งปีค่าดัชนีจะเป็นบวกแน่นอน เพราะฐานการผลิตในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2554 อยู่ในระดับต่ำมาก

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องจับตาเฝ้าระวังมากที่สุด คือ ผลกระทบทางอ้อมที่เกิดขึ้นจากวิกฤตยุโรป เนื่องจากขณะนี้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังตลาดจีน อาเซียน และจีน ได้ติดลบลงหมดแล้ว โดยในเดือนส.ค.2555 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปจีนลดลง 12% คิดเป็นสัดส่วนตลาด 10.48% ญี่ปุ่นลดลง 9% สัดส่วน 9.47% และอาเซียนลดลง 10% มีสัดส่วน 19.89% ซึ่งตามปกติตลาดอาเซียนไม่เคยติดลบมาก่อน หากตลาดเหล่านี้ลดลงอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทย  

“เกรงว่าสถานการณ์จะเหมือนกับช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปตลาดยุโรป สหรัฐอเมริกาโดยตรงและตลาดทางอ้อมของไทยลดลงอยู่ที่ระดับ 20% ใกล้เคียงกัน ดังนั้นจึงต้องเฝ้าระวังเพราะตลาดทางอ้อมรวมกันมีสัดส่วนต่อการส่งออกของไทยมาก” นานหทัย กล่าว