posttoday

นักวิชาการยื่นศาลรธน.ยับยั้งรับจำนำข้าว

27 กันยายน 2555

นิด้า รวมนักวิชาการชื่อดัง 127 คน ยับยั้งโครงการจำนำข้าว ต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญ

นิด้า รวมนักวิชาการชื่อดัง 127 คน  ยับยั้งโครงการจำนำข้าว ต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญ

นักวิชาการยื่นศาลรธน.ยับยั้งรับจำนำข้าว

นายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แถลงว่า วันนี้ได้นำรายชื่อนักวิชาการ 127 รายชื่อ ประกอบด้วบ อาจารย์ บุคลากร และนักวิชาการ ที่เห็นถึงปัญหาในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ยื่นต่อประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในวันนี้ เนื่องจากมองว่า การดำเนินการในโครงการดังกล่าว ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 และมาตรา 43 เพื่อให้ศาลพิจารณาสั่งการปรับปรุงหรือยับยั้งการดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาล เพราะมีส่วน สร้างความเสียหาย ต่อเศรษฐกิจประเทศ

"การดำเนินการในโครงการนี้ เราเห็นว่า อาจจะขัดรธน. เพราะการจำนำข้าว นำไปสู่ตลาดผูกขาด และมีสาเหตุความล้มเหลว มีผู้ได้รับผลประโยชน์ ขณะเดียวกัน ก็จะเกิดหายนะในอนาคตข้าวไทย เพราะ ข้าวที่มีคุณภาพจะผลิตลดลง  จึงต้องการให้ศาลรธน. พิจารณายับยั้่ง"นายอดิศร์กล่าว

ทั้งนี้ รายชื่อผู้ร่วมยื่นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้ อาทิ นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะเศณษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และอดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นางอัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมลงชื่อครั้งนี้

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กรณีที่คณาจารย์จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และนักศึกษายื่นหนังสือต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญกรณีการจำนำข้าวของรัฐบาลขัดต่อมาตรา 84 หรือไม่ว่า เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ ในสังคมไทย ยังไม่ค่อยมีบรรทัดฐานที่ชัดเจน แต่ว่ามีเหตุผลของมันอยู่ เพราะโครงการรับซื้อทำให้รัฐกลายเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ เพราะฉะนั้นก็เป็นสิทธิ์ของคนที่จะตั้งคำถามได้ว่า การที่รัฐบาลออกนโยบายเพื่อให้ตัวเองเป็นผู้ค้ารายใหญ่ในสินค้าบางประเภทนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าจะมาทำในการเข้าไปแทรกแซงกลไกการค้าขายของประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิ เสรีภาพแล้ว ต้องมีเหตุผลเฉพาะที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม แต่ว่าคงต้องขอติดตามดูรายละเอียดจากการนำเสนอเหตุผลต่าง ๆ เพราะค่อนข้างจะเป็นเรื่องใหม่ แต่แม้จะจำกัดประเด็นอยู่ในเรื่องของสาระ แต่คงจะมีผลกระทบทางการเมือง แต่ก็เชื่อว่าคนที่ไปยื่นเรื่องไม่ใช่ว่าไม่ต้องการช่วยเกษตรกร เพราะอาจจะโดนข้อหานี้ และถ้่าสมมติว่าถ้าเกิดชนะขึ้นมาจริง ๆ ก็เป็นไปได้ว่า ฝ่ายการเมืองก็จะสร้างกระแสอีกว่าศาลมีอำนาจมากไป แต่ว่าในที่สุดสังคมก็ต้องตัดสินใจว่าเรามีกฎ กติกาของบ้านเมืองที่กำหนดเอาไว้ แล้วเราจะทำกันอย่างไร กฎกติกานั้นมีเหตุมีผลหรือไม่