posttoday

เปิดใจนายใหญ่โตโยต้า "เคียวอิจิ ทานาดะ" ไทยยังเป็นศูนย์กลางการผลิต

26 กันยายน 2555

ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะมีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษผู้บริหารสูงสุดของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ได้แบบตัวต่อตัวกับ เคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ทานาดะได้รับการโปรโมตให้ไปรับตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหาร (Managing Officer) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (TMC) ประเทศญี่ปุ่น มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นผู้บริหารระดับสูงและรับผิดชอบการบริหารงานในส่วนภูมิภาค Asia Pacific และ Oceania และตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิก (TMAPMS) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยมีหน้าที่ดูแลการขายและการตลาดของภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก

ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะมีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษผู้บริหารสูงสุดของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ได้แบบตัวต่อตัวกับ เคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ทานาดะได้รับการโปรโมตให้ไปรับตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหาร (Managing Officer) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (TMC) ประเทศญี่ปุ่น มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นผู้บริหารระดับสูงและรับผิดชอบการบริหารงานในส่วนภูมิภาค Asia Pacific และ Oceania และตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิก (TMAPMS) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยมีหน้าที่ดูแลการขายและการตลาดของภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก

ผมได้เริ่มสัมภาษณ์หลังจากที่ทานาดะทยอยให้นามบัตร 3 ใบ 3 ตำแหน่ง 3 บริษัท ใน 3 ประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า หน้าที่ความรับผิดชอบของทานาดะนั้นมากมายแค่ไหน และคำตอบทุกอย่างก็ชัดเจนมากขึ้น เมื่อทานาดะบอกว่า จากเดิมที่รับผิดชอบการทำตลาดรถยนต์โตโยต้าในประเทศไทย แต่หลังจากได้รับการโปรโมตตั้งแต่เดือน เม.ย. 2555 ที่ผ่านมา ก็ต้องรับผิดชอบประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้มากขึ้น ไม่มากไม่น้อยนับรวมๆ ได้ทั้งสิ้น 17 ประเทศเท่านั้น

นั่นคือ 10 ประเทศอาเซียน และอีก 7 ประเทศ คือ อินเดีย ปากีสถาน เกาหลีใต้ มองโกเลีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมถึงประเทศเล็กๆ ที่เป็นหมู่เกาะอย่าง หมู่เกาะกวม ปาปัวนิวกินี และตาฮิติอีกด้วย ซึ่งเมื่อต้องดูแลทั้ง 17 ประเทศ ทำให้ทานาดะต้องเดินทางไปดูแลการตลาดในแต่ละประเทศ ที่แน่ๆ ต้องเดินทางระหว่าง ไทย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ทุกอาทิตย์เลยทีเดียว

“ผมต้องเดินทางไปมาหลายประเทศ แต่ละเดือนผมต้องเดินทางไปแต่ละประเทศประมาณเดือนละ 17 ไฟลต์ หรือปีหนึ่งต้องเดินทางไม่น้อยกว่า 170 ไฟลต์”

การที่ต้องรับผิดชอบตลาดมากถึง 17 ประเทศ ทำให้เวลาของทานาดะนั้นมีค่าดั่งทองคำเลยทีเดียว ซึ่งทีมงานโตโยต้า บอกว่า เวลาจะประชุมกับทานาดะนั้นจะมีเวลาแค่ 5 นาทีเท่านั้น มีอะไรต้องรีบพูด เพราะทานาดะอยู่เมืองไทยเดือนละไม่กี่วันเท่านั้น

แม้ว่าทานาดะจะรับผิดชอบการทำตลาดรถยนต์โตโยต้าในภูมิภาคนี้ทั้งหมด แต่ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้บริหารมากความสามารถผู้นี้ เพราะเมื่อเริ่มสัมภาษณ์ทานาดะ ก็แจกแจงภาพรวมตลาดรถยนต์ในภูมิภาคได้อย่างละเอียดยิบ

“ยอดขายรถโตโยต้าในภูมิภาคนี้ทั้ง 17 ประเทศ มีจำนวนกว่า 1.73 ล้านคัน แบ่งเป็น ประเทศไทย 5 แสนคัน อินโดนีเซีย 4 แสนคัน ซึ่งยอดขายของไทยและอินโดนีเซีย ก็มากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายในภูมิภาคนี้แล้ว ส่วนยอดขายของประเทศอื่นๆ ออสเตรเลีย 2.3 แสนคัน อินเดีย 1.7 แสนคัน ไต้หวัน 1.2 แสนคัน มาเลเซีย 1 แสนคัน ฟิลิปปินส์ 6.5 หมื่นคัน ปากีสถาน 4.5 หมื่นคัน เวียดนาม 2.3 หมื่นคัน นิวซีแลนด์ 2 หมื่นคัน เกาหลีใต้ 1.7 หมื่นคัน”

เปิดใจนายใหญ่โตโยต้า "เคียวอิจิ ทานาดะ" ไทยยังเป็นศูนย์กลางการผลิต

 

จะเห็นได้ว่า ในขณะนี้ยอดขายรถยนต์ของไทยและอินโดนีเซียอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งทานาดะ มองว่า อินโดนีเซียคือคู่แข่งคนสำคัญที่จะแย่งบทบาทเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคนี้ แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะยึดตำแหน่งนี้ได้อยู่ เพราะแม้ว่าตลาดรถยนต์อินโดนีเซียจะมีโอกาสเติบโตมากขึ้น เพราะด้วยจำนวนประชากรที่มีมากกว่า 230 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยมีประชากรเกือบ 80 ล้านคนเท่านั้น ทำให้ตลาดรถยนต์อินโดนีเซียมีโอกาสเติบโตจากยอดการผลิตปีละ 1.1 ล้านคัน ได้อีกมาก

ขณะที่ยอดการผลิตรถยนต์ของไทยปีนี้ คาดว่าไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคัน ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อป้อนทั้งตลาดในประเทศและส่งออก และมีแนวโน้มที่ยอดการผลิตจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากยอดการผลิตที่เพิ่มขึ้นมากกว่านี้ โตโยต้าก็ต้องขยายโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งขณะนี้ได้ขอส่งเสริมการลงทุนไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อลงทุนขยายโรงงานให้มีกำลังการผลิต 1 ล้านคัน และยังมีแผนสร้างโรงงานผลิตเครื่องยนต์ที่ต้องใช้เงินลงทุนอีกกว่า 6,000 ล้านเยน ซึ่งจะยังทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญของโตโยต้าต่อไป

ปัจจุบันโตโยต้ามีกำลังการผลิตรถที่รวมโอทีทั้งสิ้นประมาณ 9 แสนกว่าคันต่อปี จาก 3 โรงงาน คือ โรงงานสำโรง จ.สมุทรปราการ โรงงานบ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา และโรงงานเกตเวย์ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งการผลิตทั้งหมดเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 4 แสนคัน ที่เหลือป้อนตลาดในประเทศไทย แต่โตโยต้ามีแผนสร้างโรงงานเกตเวย์แห่งที่ 2 ที่มีกำลังการผลิตปีละ 8 หมื่นคัน ในปีหน้า และโรงงานไทยออโต้เวิร์ค (TAW) อีก 2 หมื่นคันต่อปี

แต่ในฐานะที่ทานาดะต้องรับผิดชอบตลาดประเทศ อื่นด้วย รวมทั้งอินโดนีเซีย ซึ่งแน่นอนว่าโตโยต้าจะขยายโรงงานผลิตรถยนต์ในอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน เพราะปัจจุบันโรงงานโตโยต้าที่อินโดนีเซียมีกำลังการผลิต 1.5 แสนคันต่อปี และอีก 12 ปีข้างหน้าโตโยต้ามีแผนจะส่งออกรถยนต์จากอินโดนีเซียไปยังประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งโตโยต้ามีแผนขยายโรงงานและสร้างโรงงานแห่งใหม่ โดยมีเป้าการผลิตทั้งสิ้น 5 แสนคัน ในอีก 3 ปีข้างหน้า

“โรงงานประกอบรถยนต์ในไทยและอินโดนีเซีย จะผลิตรถต่างประเภทกัน ไม่ต้องห่วงว่าจะแย่งตลาดกัน โดยประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตรถกระบะและรถยนต์นั่ง ส่วนอินโดนีเซียเป็นฐานการผลิตรถตู้ขนาดเล็กอย่าง อาแวนซ่า และนอกจากขยายโรงงานโตโยต้าในอินโดนีเซียแล้ว เรายังมีแผนขยายโรงงานไดฮัทสุในอินโดนีเซียด้วย ซึ่งปัจจุบันโรงงานไดฮัทสุมีกำลังการผลิตอยู่ที่ปีละ 3.5 แสนคัน ทำให้ปัจจุบันโตโยต้ามีกำลังการผลิตรถโตโยต้าและไดฮัทสุเกิน 5 แสนคันต่อปี”

อย่างไรก็ตาม โตโยต้ามีแผนขยายกำลังการผลิตรถไดฮัทสุเป็นปีละ 5 แสนคัน เมื่อถึงเวลานั้นโตโยต้าจะมีกำลังการผลิตรถในอินโดนีเซียตกประมาณปีละ 78 แสนคันต่อปี

นอกจากไทยและอินโดนีเซียแล้ว โตโยต้ายังมีแผนลงทุนในประเทศอินเดียอีกด้วย เพราะอินเดียมีตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดใน 17 ประเทศที่รับผิดชอบ โดยมีตลาดรวมปีละ 3.5 ล้านคัน แต่โตโยต้ามียอดผลิตและขายปีละไม่ถึง 2 แสนคัน เนื่องจากตลาดรถในอินเดียแข่งขันกันดุมาก และรถยนต์ที่จำหน่ายจะเน้นเรื่องราคาเป็นหลัก ทำให้โตโยต้าแข่งขันกับบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ท้องถิ่นของอินเดียลำบาก

“เรามีแผนจะขยายตลาดในอินเดียด้วย ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงงาน ซึ่งกระบวนการซื้อและสร้างโรงงานที่อินเดียต้องใช้เวลานานมาก ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 ปี โรงงานถึงจะสร้างเสร็จ โดยปัจจุบันโรงงานเราผลิต 1.7 แสนคันต่อปี หรือแค่ 5% ของตลาดรวม ซึ่งเราตั้งเป้ามีส่วนแบ่งการตลาดที่ 10% ของตลาดรวมในอีก 5 ปีข้างหน้าที่คาดว่าจะอยู่ที่ 5 ล้านคัน เมื่อโรงงานใหม่สร้างเสร็จ โดยโตโยต้าจะมีโรงงานที่มีกำลังการผลิตในอินเดีย 5 แสนคัน”

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนของโตโยต้าในภูมิภาคนี้ ที่จะทำให้โตโยต้าก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดประเทศไทย นอกจากการลงทุนใหม่ๆ ที่จะมีขึ้นแล้ว โตโยต้าเองในฐานะที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาครบ 50 ปี โตโยต้าได้จัดกิจกรรมมากมาย ทั้งในมุมการตลาด การถ่ายทอดเทคโนโลยี เช่น การก่อตั้ง Toyota Motor Asia Pacific Engineering and Manufacturing (TMAPEM) ที่บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Research and Development : R&D) เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศไทย Asia Pacific และ Oceania อีกทั้งเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตของโตโยต้าในภูมิภาคอีกด้วย ซึ่งทำให้รถยนต์โตโยต้าที่ผลิตและจำหน่ายในภูมิภาคนี้สามารถตอบสนองต่อความต้องการและลักษณะการใช้งานของลูกค้าในภูมิภาคนี้

รวมกิจกรรมเพื่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นโครงการโตโยต้า ปลูกป่าชายเลน โครงการปลูกป่านิเวศ 1 ล้านต้น โครงการลดเมืองร้อนด้วยมือเรา เพื่อคืนกำไรให้กับสังคมที่ให้การสนับสนุนโตโยต้าด้วยดีตลอดมา และโตโยต้าเองก็พร้อมที่จะเดินหน้าเคียงข้างกับลูกค้าชาวไทยและสังคมไทยต่อไปอีก 50 ปี และต่อๆ ไป