posttoday

ค่ายมือถือพร้อมชิงไลเซ่นส์ 3จี

20 กันยายน 2555

ผู้ประกอบการมือถือ 3 รายเดิมทุ่มสุดตัว ชิงไลเซ่นส์ 3 จี 16 ต.ค. ดันราคาไลเซ่นส์ 3 ใบ พุ่งเกิน 2 หมื่นล้านบาท

ผู้ประกอบการมือถือ 3 รายเดิมทุ่มสุดตัว ชิงไลเซ่นส์ 3 จี  16 ต.ค.  ดันราคาไลเซ่นส์ 3 ใบ พุ่งเกิน 2 หมื่นล้านบาท

ค่ายมือถือพร้อมชิงไลเซ่นส์ 3จี

นายสมประสงค์ บุญยะชัย  ประธานกรรมการบริหารอินทัช เปิดเผยว่า บริษัทลูกของ แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส มีความพร้อมเต็มที่ที่จะเข้าร่วมการประมูลใบอนุญาตให้บริการ หรือ ไลเซ่นส์ 3 จี 2.1 กิกะเฮิร์ตซ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 16 ต.ค.นี้ โดยเฉพาะเรื่องเม็ดเงินที่เตรียมสำหรับค่าไลเซ่นส์ 3 ใบ 15 เมกะเฮิร์ตซขั้นต่ำ 2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ทางอินทัชไม่ได้กังวลว่าจะชนะการประมูลหรือไม่ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ คือต้องการให้การประมูลไลเซ่นส์ 3 จี เกิดขึ้นอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยให้ประเทศพัฒนาไปข้างหน้าและส่งผลดีต่อ ภาพรวมและเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งยังเป็นดัชนีสำคัญที่จะช่วยดึงนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นด้วย

นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านปฏิบัติการโครงข่าย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า  ทรูจะเข้าประมูลในนาม บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ ภายใต้ความพร้อมด้านเงินลงทุนที่ไม่แพ้กับรายอื่นๆ ซึ่งหากการแข่งขันจะทำให้ราคาประมูล 3 ใบขยับสูงมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท ทรูก็จะสู้เช่นกัน

“มั่นใจว่าจะไม่มีอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ใดๆ ที่จะทำให้ทรูต้องสะดุดและได้ไลเซ่นส์เพียง 5 หรือ 10 เมกะเฮิร์ต เพราะทรูจะสู้เต็มที่เพื่อให้ได้ไลเซ่นส์ 3 ใบตามที่ต้องการ” นายวิเชาวน์กล่าว

นายดามพ์ สุคนทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคพร้อมเองเงินทุนที่จะเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ออย่างเต็มที่และจะพยายามสุดความสามารถเพื่อให้ได้ไลเซ่นส์ 3 ใบไม่ว่าราคาจะสูงแค่ไหนก็ตาม

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. กล่าวว่า การประมูลไลเซ่นส์ 3 จี ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน มั่นใจว่าไม่มีปัจจัยใดๆ ที่จะเป็นอุปสรรค  โดยกสทช. และเอกชนทุกรายได้ร่วมกันประกาศความพร้อมเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา

ขณะที่บริษัทผู้ขอรับรายละเอียดการประมูลมีเพิ่มเป็น 16 ราย โดยรายใหม่ คือ บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น ผู้ให้บริการวงจรสื่อสารความเร็วสูง ส่วนอีก 15 ราย ประกอบด้วย เอไอเอส แอดวานซ์ โมบาย บรอดแบนด์ และ แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค  ดีแทค เนทเวอร์ค  ดีแทค บรอดแบนด์ ทรู คอร์ปอเรชั่น ทรูมูฟ เรียลมูฟ  เรียล ฟิวเจอร์

นอกจากนี้ ยังมีบริษัท บีบี คอนเน็ค จาย่า ซ็อฟ วิชั่น วิคตอรี่ มอเตอร์ จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มบริษัท เคเบิลไทย โฮลดิ้ง หรือ ซีทีเอช  และ บริษัท เอซีที โมบาย