posttoday

คมนาคมพอใจ 3ผลงานแก้ปัญหาประชาชน

08 กันยายน 2555

คมนาคมแถลงทำงาน 1 ปี จารุพงศ์ พอใจ 3 ผลงานช่วยแก้ปัญหาประชาชน ชู 4 ผลงานหลักขับเคลื่อนการคมนาคมประเทศ

คมนาคมแถลงทำงาน 1 ปี จารุพงศ์ พอใจ 3 ผลงานช่วยแก้ปัญหาประชาชน ชู 4 ผลงานหลักขับเคลื่อนการคมนาคมประเทศ

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปี โดยนายจารุพงศ์ กล่าวว่า พอใจ 3 ผลงานหลักช่วยแก้ปัญหาประชาชน ทั้งการฟื้นฟูสนามบินดอนเมือง ยกเลิกการประกันบัตรอัตโนมัติ (อีซีพาส) และเร่งโครงการสำคัญต่างๆ ส่วนนโยบายที่ต้องดำเนินการในระยะต่อไป คือ ลดต้นทุนโลจิสติกส์จากเดิมร้อยละ 7.2 ให้เหลือร้อยละ 5 รวมถึงเชื่อมโยงการคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 และแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้า

ทั้งนี้ ใน 1 ปีที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม ชู 4 ผลงานเด่นที่ดำเนินแล้วประสบผลสำเร็จ ได้แก่ ฟื้นฟู ดูแล แก้ไข มุ่งไกลสู่อาเซียน โดยในด้านการฟื้นฟู เน้นฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานจากปัญหาน้ำท่วม ซึ่งได้มีการสนับสนุนเครื่องมือ เครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ กำลังคน จัดทำพนังกั้นน้ำและเขื่อนดิน รวมทั้งเข้าร่วมโครงการใช้เรือผลักดันน้ำ เพื่อระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จัดรถโดยสารช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการคมนาคม เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการข้อมูล

ส่วนการดูแล เน้นดูแลปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยได้ดำเนินโครงการรถไฟฟรี รถเมล์ฟรี ปรับลดค่าโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) รวมถึงยกเลิกเงินประกันบัตรอัตโนมัติ (อีซีพาส) และเพิ่มช่องทางการเติมเงิน ตลอดจนยกระดับคุณภาพการให้บริการสาธารณะด้วยการจัดระเบียบรถแท็กซี่และรถโดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยของผู้โดยสาร รวมถึงการแก้ไขและมุ่งไกลสู่อาเซียน โดยในแผนระยะยาวจะพัฒนาโลจิสติกส์การขนส่ง ซึ่งขณะนี้มีเส้นทางที่เปิดให้บริการแล้ว เช่น สะพานข้ามแม่น้ำโขง จ.นครพนม รถไฟทางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง รวมทั้งเพิ่มศักยภาพและพัฒนาสนามบินดอนเมือง เป็นต้น

สำหรับโครงการที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น การจัดตั้งสายการบินไทยสมายล์ โครงการส่วนต่อขยาย Airport Rail Link ช่วงมักกะสัน-พญาไท-ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ-ชลบุรี-พัทยา-ระยอง รวมทั้งพัฒนาระบบตั๋วร่วม และโครงการจัดซื้ิอรถเมล์เอ็นจีวี 3,183 คัน ซึ่งจากการพัฒนาดังกล่าว กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าหมายว่าจะลดต้นทุนการขนส่งเหลือร้อยละ 5 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 7.2 ของจีดีพี โดยเน้นพัฒนาการขนส่งทางน้ำและทางรางมากขึ้น โดยใช้ถนนเป็นฟีดเดอร์เท่านั้น

ส่วนที่จะดำเนินการต่อไป กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าจะสร้างความเชื่อมโยงโครงข่ายในภูมิภาคอาเซียน โดยได้มีการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ช่วงบึงกาฬ-ปากซัน รวมถึงสร้างถนนและสะพานเชื่อมระหว่างไทย-พม่า ตลอดจนเปิดเดินรถขนส่งระหว่างไทย-กัมพูชา และเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟสายสิงค์โปร์-คุนหมิง รวมทั้งปรับปรุงกฎหมาย เพื่อรองรับการพัฒนาระบบขนส่งของอาเซียน

ส่วนระบบรถไฟสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ยืนยันเดินหน้าในโครงสร้างหลัก ซึ่งจะมุ่งเน้นการสร้างสถานีบางซื่ิอให้เหมือนกับสถานีทางตอนใต้ของปักกิ่ง ที่สามารถรองรับรถไฟในครั้งเดียวได้ถึง 21 ขบวน ส่วนระบบรางจะเป็นขนาดเดิม กว้าง 1 เมตร หรือ 1.435 เมตร หรือไม่นั้น รฟท.จะจัดทำเวิร์กชอปในสัปดาห์หน้า และคาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า สำหรับการทำสัญญาจะเป็นสัญญาแบบปลายเปิด เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนรายละเอียดได้ในภายหลัง และงบประมาณสามารถเพิ่มได้ไม่เกินร้อยละ 10 ยืนยันไม่ยกเลิกการก่อสร้างรถไฟสายสีแดง รังสิต-บางซื่อ แน่นอน

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หากจะมีการปรับขนาดราง คงต้องพิจารณาเป็นบางจุดที่เชื่อมต่อกับการขยายเส้นทางสถานีแอร์พอร์ตลิงค์ ดอนเมือง-ธรรมศาสตร์-รังสิต โดยแผนการก่อสร้างจะต้องปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม