posttoday

อุตสาหกรรมช็อค!ศาลเบรค"นิคมฯบ้านค่าย"

01 กันยายน 2555

ลงทุนชะงัก ศาลปกครองระยองเพิกถอนประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง

ลงทุนชะงัก ศาลปกครองระยองเพิกถอนประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง

หลังนักลงทุนต้องขวัญผวา จากศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราว หยุดก่อสร้างในโครงการลงทุนที่ไม่ดำเนินการให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง จนโครงการลงทุนโดยเฉพาะที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดหลายหมื่นล้านบาท ต้องยืดเยื้อมาเป็นปีจึงกลับมาดำเนินการได้ใหม่ไปครั้งหนึ่งแล้ว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองระยองได้เพิกถอนประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) พื้นที่รวมกว่า 2,194 ไร่ ตั้งอยู่ใน ต.หนองบัวและ ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง โดยมีผู้ฟ้องคดีคือ เศรษฐา ปิตุเตชะ และพวกรวม 386 คน ซึ่งได้มอบอำนาจให้ ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเป็นทนายร่างคำฟ้อง

ผลจากศาลปกครองระยองสั่งเพิกถอนประกาศจัดตั้งนิคมฯ ดังกล่าว ทำให้ต่อไปการจัดตั้งนิคมฯ จะต้องยืดเยื้อยาวนานกว่าเดิม โดยปกติหลังจากที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ประกาศเขตจัดตั้งนิคมฯ และเปิดให้เอกชนยื่นขอจัดตั้ง โดยจะต้องลงไปทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่ จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และผลกระทบต่อสุขภาพ (เอชไอเอ) แล้ว ในขั้นตอนที่เอกชนจะยื่นขอจัดตั้งนิคมฯ หากมีใครไปฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนการจัดตั้ง ก็อาจจะต้องไปสู้กันในขั้นตอนดังกล่าวก่อน จากนั้นถึงจะดำเนินการขั้นตอนตามกฎหมายอื่นต่อไปได้

อุตสาหกรรมช็อค!ศาลเบรค"นิคมฯบ้านค่าย"

วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ.จะไปยื่นเรื่องอุทธรณ์คำพิพากษาเพิกถอนประกาศเรื่องการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) ในพื้นที่ ต.หนองบัว และ ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเนื่องจากการประกาศเขตการตั้งนิคมอุตสาหกรรม เป็นขั้นตอนเบื้องต้นเพื่อกำหนดพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมให้ภาคเอกชนไปทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการทำประชาพิจารณ์ประชาชนในพื้นที่ เพราะหากไม่ประกาศเขตไปก่อน จะดำเนินการทำอีไอเอไม่ได้

ทั้งนี้ ในขั้นตอนการประกาศเขตนิคมฯ ผู้ประกอบการจะไม่สามารถจัดสรรพื้นที่ไปขายได้ หรือพัฒนาพื้นที่ได้ ต้องรอให้ผ่านการพิจารณาอีไอเอรวมถึงการทำประชาพิจารณ์ก่อน แล้วถึงจะมาขออนุญาตจัดสรรที่ดินจาก กนอ.อีกครั้ง ถึงจะสามารถเริ่มต้นพัฒนาและดำเนินการเชิงพาณิชย์

“ตอนนี้ต้องรอให้เป็นขั้นตอนทางศาล การพัฒนานิคมฯ ก็ต้องชะลอออกไปก่อน จนกว่าขั้นตอนทางศาลจะเสร็จสิ้น ซึ่งนิคมฯ บ้านค่ายเป็นนิคมฯ เอกชนร่วมดำเนินการระหว่าง กนอ.และบริษัท ไออาร์พีซี” วีรพงศ์ กล่าว

สมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นว่า เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม มวลชน และภาคอุตสาหกรรม เกิดขึ้นจากความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ทั้งๆ ที่จุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการรักษาสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย ซึ่งเรื่องดังกล่าวค่อนข้างกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุนของไทย เพราะไม่ว่าจะไปลงทุนที่ไหนก็ถูกต่อต้าน ซึ่งผู้ประกอบการที่ทำถูกต้องจริงๆ ก็ควรจะสร้างความโปร่งใสให้มวลชนเข้าใจ ขณะที่ภาครัฐต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วยในด้านมวลชน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นปัญหาของเอกชนอย่างเดียว

วิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรม กล่าวว่า คำตัดสินของศาลออกมาอย่างนี้ จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในภาพรวม โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรง และต่อไปการเกิดขึ้นของนิคมฯ แห่งใหม่ก็จะยากขึ้น โดยเฉพาะรายที่มีที่ดินตั้งอยู่ในพื้นที่สีเขียว

อย่างไรก็ตาม อมตะฯ มีที่ดินรอการพัฒนาทั้งหมด 1.4 หมื่นไร่ จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่สีม่วงสามารถทำอุตสาหกรรมได้

ศรีสุวรรณ กล่าวว่า ยังมีคดีที่สมาคมฯ ได้ยื่นเพิกถอนประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม โรงงานและสิ่งก่อสร้าง ที่ได้ยื่นฟ้องในลักษณะเดียวกันอีกประมาณ 5-6 แห่ง เช่น นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง ต.สำนักทอง อ.เมือง จ.ระยอง บริษัท ไทยเจนเนอรัลไนซ์โคล แอนด์โค้ก หรือโรงงานถ่านหินโค้ก ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายบายพาส 36 เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง ที่ดำเนินการก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต โรงงานรีดยางพาราที่ จ.บุรีรัมย์ ที่ยังไม่จัดทำอีไอเอ

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมฟ้องการก่อสร้างส่วนขยายสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ยังไม่มีรายละเอียดในการก่อสร้างและศึกษาด้านผลกระทบเพิ่มเติมอีกด้วย

ดังนั้น เมื่อคำตัดสินของศาลปกครองออกมาอย่างนี้ กลุ่มทุนหรือนักลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม คงต้องนำประเด็นดังกล่าวเข้าไปเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยง ขณะที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็คงต้องหาทางสร้างความเชื่อมั่นใหม่ๆ ให้นักลงทุนเพื่อชดเชยการเสียโอกาสจากขั้นตอนจัดตั้งนิคมฯ ที่จะยาว...ววขึ้น