posttoday

โพลล์เผยคนไทยเสพติดประชานิยม

29 สิงหาคม 2555

กรุงเทพโพลล์ เผย นักเศรษฐศาสตร์ ประเมิน คนไทยเริ่มเสพติดนโยบายประชานิยม มอง 7 โครงการไม่เป็นผลดี

กรุงเทพโพลล์ เผย นักเศรษฐศาสตร์ ประเมิน คนไทยเริ่มเสพติดนโยบายประชานิยม มอง 7 โครงการไม่เป็นผลดี

กรุงเทพโพลล์ เผยผลสำรวจ นักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 27  แห่ง จำนวน 70 คน เรื่อง "นโยบายประชานิยมส่งผลดีหรือเสียต่อประเทศไทย" ระหว่างวันที่ 21-28 ส.ค.ที่ผ่านมา โดย นักเศรษฐศาสตร์ประเมินนโยบายประชานิยมของรัฐบาลชุดปัจจุบัน 16 โครงการ พบไม่ดี 7 โครงการ ดี 4 โครงการ และอีก 5 โครงการดีแต่มีวิธีดำเนินการไม่ถูกต้อง พร้อมระบุนโยบายประชานิยมไม่ช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ไม่ช่วยทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศมีความเข้มแข็งขึ้นอย่างยั่งยืน ซ้ำร้ายเชื่อว่าคนไทยเริ่มเสพติดนโยบายประชานิยมแล้ว

โดยโครงการประชานิยมที่ไม่ดีจำนวน 7 โครงการ ได้แก่ โครงการรับจำนำข้าวเปลือก, โครงการแจกแท็บเลตพีซี, โครงการรถยนต์คันแรก, โครงการชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงบางประเภทชั่วคราวเพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงทันที, โครงการบัตรเครดิตพลังงานสำหรับผู้ประกอบการอาชีพรถรับจ้างขนส่งผู้โดยสารสาธารณะ, โครงการเพิ่มเงินทุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอีกแห่งละ 1 ล้านบาท และโครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีวงเงินจังหวัดละ 100 ล้านบาท

ส่วนโครงการประชานิยมที่ดีแต่ใช้วิธีดำเนินการไม่ถูกต้องจำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน, โครงการจบปริญญาตรี เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท, โครงการพักหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อย, โครงการกองทุนพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นจำนวนเงิน 3-5 แสนบาทต่อหมู่บ้าน และโครงการเพิ่มเงินทุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอีกแห่งละ 1 ล้านบาท

ขณะที่โครงการประชานิยมที่ดีจำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการเบี้ยยังชีพคนชราแบบขั้นบันได, โครงการอินเทอร์เน็ตฟรีในที่สาธารณะ และโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคได้จริง, โครงการบ้านหลังแรก(คืนภาษี-เพิ่มค่าลดหย่อน) และโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคได้จริง

ซึ่งในส่วนของโครงการเพิ่มเงินทุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอีกแห่งละ 1 ล้านบาท นักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นว่าเป็นโครงการที่ไม่ดีและเป็นโครงการที่ดีแต่มีวิธีดำเนินการไม่ถูกต้องเท่ากัน

โดยนักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 58.6 เห็นว่าโครงการประชานิยมไม่ช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ รองลงมาร้อยละ 38.6 คิดว่าช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้บ้างแต่ไม่ยั่งยืน และเมื่อถามต่อว่าโครงการประชานิยมจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้หรือไม่ ร้อยละ 50.0 คิดว่าช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้บ้างแต่ไม่ยั่งยืน รองลงมาร้อยละ 47.1 คิดว่าไม่ช่วย

สำหรับความเห็นต่อโครงการประชานิยมจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่สมดุลมีความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศ(Domestic Demand) มากขึ้นได้หรือไม่ ร้อยละ 52.9 คิดว่าช่วยทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศมีความเข้มแข็งขึ้นได้บ้างแต่ไม่ยั่งยืน  รองลงมาร้อยละ 40.0  คิดว่าไม่ช่วย

ส่วนของโครงการประชานิยมที่มีการแทรกแซงกลไกราคาผ่านโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรต่างๆ ของรัฐบาลจะก่อให้เกิดปัญหาที่สำคัญ(โดยเฉพาะในระยะยาว) คือ ร้อยละ 77.1 เชื่อว่าจะเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น การโก่งราคาเกษตรกร รองลงมาร้อยละ 68.6 เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่สามารถกำหนดราคาขายในตลาดโลกได้ เนื่องจากสินค้าเกษตรจะเก็บไว้นานไม่ได้ และจะขาดทุนจากการดำเนินโครงการ ร้อยละ 65.7 เห็นว่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดพลาด ราคารับจำนำที่สูงจะทำให้เกษตรกรขยายการเพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น และร้อยละ 60.0 เชื่อว่าประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรจะลดลง

ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์ได้ทำการประเมินผลได้สุทธิจากนโยบายประชานิยมกับงบประมาณที่ใช้ไปว่าสิ่งใดจะมากกว่ากัน ร้อยละ 77.1 เห็นว่าผลได้สุทธิจากนโยบายประชานิยมจะน้อยกว่างบประมาณที่ใช้ไป และมีเพียงร้อยละ 5.7 เท่านั้นที่เห็นว่าผลได้สุทธิจากนโยบายประชานิยมจะมากกว่างบประมาณที่ใช้ไป

ในประเด็นคนไทยเสพติดนโยบายประชานิยมหรือไม่ นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 48.6 เชื่อว่าประชาชนเสพติดโครงการประชานิยมแล้ว รองลงมาร้อยละ 47.1 เชื่อว่าประชาชนเริ่มเสพติดโครงการประชานิยม โดยไม่มีนักเศรษฐศาสตร์คนใดเลยที่เห็นว่าคนไทยยังไม่เสพติดโครงการประชานิยม