posttoday

อารักษ์มั่นใจสอบผ่านผลงานด้านพลังงาน

26 สิงหาคม 2555

"อารักษ์"มั่นใจสอบผ่านผลงานกระทรวงพลังงานย้ำดูแลราคาพลังงานต่อเนื่องไม่ให้กระทบค่าครองชีพประชาชน

"อารักษ์"มั่นใจสอบผ่านผลงานกระทรวงพลังงานย้ำดูแลราคาพลังงานต่อเนื่องไม่ให้กระทบค่าครองชีพประชาชน

นายอารักษ์  ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน เปิดเผยถึงการทำงานในตำแหน่งรมว.พลังงานตลอด8 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าสอบผ่านในระดับหนึ่ง เนื่องจากไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น โดยนโยบายพลังงานที่ผ่านมาได้พยายามดูแลระดับราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี)ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่ให้กระทบกับค่าครองชีพประชาชน

สำหรับนโยบายการตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ30 บาท นั้น เป็นการดูแลระดับราคาไม่ให้กระทบกับอัตราเงินเฟ้อและต้นทุนราคาสินค้า   ซึ่งการดูแลราคาดีเซลให้มีเสถียรภาพไม่ได้มีเฉพาะกระทรวงพลังงานอย่างเดียวแต่รวมไปถึงกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคมด้วย เพราะมีปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยงข้อง

ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใช้เงินเข้าไปอุดหนุนราคาดีเซลเพื่อชะลอการปรับขึ้นราคาอยู่  60 สต./ลิตร และมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก   ส่วนจะดูแลราคาดีเซลได้นานแค่ไหนนั้น ไม่สามารถระบุได้  โดยยังใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯเข้าไปชดเชยราคาแม้ว่ากองทุนน้ำมันฯจะติดลบและต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องก็ตาม แต่ในภาพรวมก็เพื่อการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันในประเทศไม่ถือว่าผิดวัตถุประสงค์

ด้านการปรับโครงสร้างราคาแอลพีจี และเอ็นจีวี ยอมรับว่า มีหลายประเด็นที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่วางไว้  โดยเฉพาะการศึกษาต้นทุนราคาเอ็นจีวี ใช้เวลานานกว่าที่กำหนดแต่ไม่ได้สร้างความเสียหายอะไรมาก  ขณะเดียวกันจากการหารือร่วมกับผู้ประกอบการขนส่งก็เริ่มเข้าใจถึงการนำต้นทุนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)มาคำนวณในราคาเอ็นจีวีด้วย  แต่สิ่งที่เอกชนเป็นห่วงคือ จะบริหารจัดการอย่างไรให้มีเอ็นจีวีเพียงพอ

“การตรึงราคาดีเซล 30 บาท/ลิตร โดยความเห็นส่วนตัวนั้นก็ไม่เห็นด้วยนัก ซึ่งราคา30บาทเป็นเหมือนเมจิก นัมเบอร์ ที่ตั้งขึ้นมา ไม่ให้ไปกระทบกับอัตราเงินเฟ้อ  ต้นทุนราคาสินค้าและปัจจัยอื่นๆ   แต่เมื่อมีนโยบายที่จะดูแลราคาพลังงานไม่ให้กระทบประชาชนก็ต้องบริหารจัดการให้ดีที่สุด ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรมาก สิ่งที่เป็นห่วงคือ ผู้ค้าน้ำมันได้ค่าการตลาดที่ต่ำเกินไป  เฉลี่ยควรอยู่ที่1.50-1.80 บาท/ลิตร  แต่ล่าสุดได้ไม่ถึง 1 บาท/ลิตร”นายอารักษ์ กล่าว

นายอารักษ์  กล่าวถึงนโยบายสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ ว่า ในส่วนของผู้ค้าน้ำมันมาตรา7 ที่ต้องเพิ่มการสำรองน้ำมันจาก 5% เป็น  6%  ของปริมาณจำหน่าย หรือจาก 36 วันเป็น 43 วัน  หากภาคเอกชนไม่มีความพร้อม  และต้องเลื่อนออกไป 2-3 ปี  เนื่องจากไม่มีสถานที่ในการจัดเก็บน้ำมันเพียงพอ ก็เป็นเหตุผลที่รับฟังได้   แต่ในหลักการเหตุผลของการออกนโยบายนี้ก็เพื่อสร้างความมมั่นด้านพลังงานให้กับประเทศ