posttoday

กสทช.กำหนดวันประมูล 3 จี

22 สิงหาคม 2555

กสทช.วางวันประมูล 15-20 ต.ค. ยืนยันไม่ขึ้นราคาไลเซ่นส์ 4,500 ล้านบาท มั่นใจไม่ถูกล้ม

กสทช.วางวันประมูล 15-20 ต.ค. ยืนยันไม่ขึ้นราคาไลเซ่นส์  4,500 ล้านบาท มั่นใจไม่ถูกล้ม

กสทช.กำหนดวันประมูล 3 จี

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ข้อสรุปที่แน่นอนแล้วว่า การประมูลใบอนุญาตให้บริการ หรือ ไลเซ่นส์ 3 จี จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 15-20 ต.ค. หลังจากที่ประชุมบอร์ดกสทช.ชุดใหญ่ 11 ท่านมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 2 เสียง เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ผ่านหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลเพื่อประมูลใบอนุญาต 3 จี 2.1 กิกะเฮิร์ตซแล้ว

ทั้งนี้ บอร์ดใหญ่ได้เห็นชอบตามที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. เสนอ คือ ราคาเริ่มต้นประมูลที่ใบละ 4,500 ล้านบาท จำนวน 9 ใบ และปรับเพดารการถือครอง คลื่นความถี่จาก 20  เหลือ 15 เมกะเฮิร์ตซ โดยสาเหตุที่ไม่ได้ปรับราคาขึ้นเป็นใบละ 6,000 ล้านบาท  ตามที่บอร์ดบางท่านเสนอนั้น เพราะเห็นว่าหากราคาสูงเกินไป จะส่งผลกระทบต่อราคาค่าบริกาที่เรียกเก็บจากผู้บริดภคในภายหลัง

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกสทช. และประธานกทค. กล่าวว่า แม้ผลการศึกษาจะระบุว่าราคาตลาดอยู่ที่ 6,440 ล้านบาท แต่หากกสทช.ยึดตามราคาตลาดจะมีความเสี่ยงสูงเกินไป และราคา 4,500 ล้านบาทไม่ถือว่าเป็นราคาที่ต่ำสุดหากเทียบกับอีกหลายๆ ประเทศ  จึงถือเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว

“กสทช.ไม่ใช่ผู้จัดฮั้วประมูล 3 จีตามที่ทีดีอาร์ไอกล่าวหา และมั่นใจว่าทุกอย่างที่ดำเนินการมาถูกต้อง โปร่งใส  ซึ่งการประมูล 3 จี ครั้งนี้ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะไม่มีความเสี่ยงใดๆ ที่การประมูลจะถูกล้ม” พ.อ. เศรษฐพงค์กล่าว

นายจิตนรา นวรัตน์ อัยการพิเศษฝ่ายคดียาเสพติด ในฐานะคณะอนุกรรมการดำเนินการจัดประมูล 3 จี กล่าวว่า การฮั้วะกันตามที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวหานั้น หมายถึงการสมยอมกันเรื่องเสนอราคาประมูล ระหว่างผู้ให้บริการ ซึ่งไม่ใช่กับการประมูล 3 จี เพราะผู้ให้บริการแต่ละรายต้องแข่งขันกันเพื่อชิงตำแหน่งคลื่นความถี่ที่ดีทีสุด จากการที่แต่ละตำแหน่งมีผลต่อต้นทุนที่ต่างกันในระดับกว่าพันล้านบาท

สำหรับมติเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว คือ น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ขณะที่ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกทค.งดออกเสียง เนื่องจากเห็นว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการที่ศาลปกครองสั่งระงับการประมูลครั้งที่แล้ว และ คดียังอยู่ในกระบวนการฟ้องร้อง

อย่างไรก็ตาม กสทช. 2ท่านที่เป็นเสียงข้างน้อย ระบุว่า ต้องการให้ราคาเริ่มต้นเพิ่มเป็น 6,000 ล้านบาท เพราะการปรับเพดานเหลือ 15 เมกะเฮิร์ตซก็ถือว่าได้ปรับตามเอกชนแล้ว และผู้ประกอบการเอกชนได้ ประกาศชัดเจนถึงความพร้อมในการประมูลรายละไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งสามารถสู้ราคาประมูลได้อยู่แล้วหากปรับสูงขึ้น