posttoday

ดัชนีอุตฯก.ค.98.7ต่ำ100ในรอบ6เดือน

17 สิงหาคม 2555

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค.ลดต่ำกว่า 100 ในรอบ 6 เดือน อยู่ที่ระดับ 98.7 หลังวิกฤตอียูกระทบการส่งออก ราคาน้ำมันผันผวน และขาดแคลนแรงงาน

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค.ลดต่ำกว่า 100 ในรอบ 6 เดือน อยู่ที่ระดับ 98.7 หลังวิกฤตอียูกระทบการส่งออก ราคาน้ำมันผันผวน และขาดแคลนแรงงาน

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนก.ค. 2555 พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 98.7 ลดลงจากระดับ 102.7 ในเดือนมิ.ย. โดยค่าดัชนีปรับลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และปรับตัวลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 ครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ตั้งแต่เดือนม.ค. 2555 เนื่องจากความยืดเยื้อของวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดขายสินค้าไปต่างประเทศลดลง

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ การขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม จึงส่งผลกระทบต่อค่อดัชนีความเชื่อมั่นให้ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ผู้ประกอบการกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ยังคงต้องปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุน เพื่อรองรับกับการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค. 2556

ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนล่วงหน้า อยู่ที่ระดับ 104.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 105.8 เพราะยอดคำสั่งซื้อ ยาดขาย ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ หากแยกเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีการส่งออกน้อยกว่า 50% ของยอดขาย หรือเน้นตลาดในประเทศ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 100.00 ลดลงจาก 104.0 โดยกลุ่มที่ค่าดัชนีลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สมุนไพร และอู่ต่อเรือ ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนล่วงหน้าอยู่ที่ระดับ 104.9 ลดลงจาก 107.0 ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการที่มีการส่งออกตั้งแต่ 50% ขึ้นไป ค่าดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 93.0 ลดลงจาก 94.3 เพราะยอดขาย ยอดสำคั่งซื้อ และปริมาณการผลิตปรับตัวลดลง โดยกลุ่มที่ค่าดัชนีลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ อาหาร และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่น 3 เดือนล่วงหน้าอยู่ที่ระดับ 104.1 เพิ่มขึ้นจาก 97.3 ในเดือนมิ.ย.

สำหรับสภาวะแวดล้อมในการดำเนินกิจการในเดือนก.ค. พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจากราคาน้ำมันมากที่สุด รองลงมา คือสภาวะเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การเมืองในประเทศ อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบิ้ยเงินกู้ ส่วนข้อเสนอแนะที่มีต่อภาครัฐ ได้แก่ ต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อช่วยชดเชยตลาดที่หายไป เพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงให้รัฐเจรจาขอคืนสิทธิจีเอสพีจากสหรัฐอเมริกา และขอต่ออายุจีเอสพีของสหภาพยุโรป พร้อมทั้งจัดหาแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขาดแคลน

“แนวโน้มความเชื่อมั่นในเดือนหน้ามีโอกาสที่จะลด หรือเพิ่มขึ้นก็ได้ จึงต้องจับตาดูผลกระทบต่อไป ซึ่งรัฐและเอกชนก็ได้ร่วมกันแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบางควรจะวางแผนระยะยาวถึงผลกระทบต่อการส่งออกในอีก 2-3 ปีข้างหน้าด้วย เพราะวิดฤตยุโรปคงจะยืดเยื้ออีกนาน” นายพยุงศักดิ์ กล่าว