posttoday

เปิดภาวะจ้างงานไตรมาส2"ยานยนต์-แม่พิมพ์"รุ่ง

12 สิงหาคม 2555

เปิดตัวเลขภาวะจ้างงานไตรมาศ2ของไทยพบอุตสาหกรรมยานยนต์-แม่พิมพ์มีแนวโน้มขยายตัว

โดย...วิทยา ปะระมะ

สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยรายงานการเตือนภัยด้านแรงงานวิเคราะห์แยกรายอุตสาหกรรม ในไตรมาส 2 ระบุว่า สามารถพยากรณ์แนวโน้มการจ้างงานได้เพียง 5 อุตสาหกรรมจาก 12 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีโอกาสเกิดวิกฤตการจ้างงาน 1.11% แนวโน้มการจ้างงานอยู่ในภาวะปกติ จำนวนลูกจ้างภาคเอกชนมี 7.36 แสนคน หดตัวอยู่ที่ -8.46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน มีโอกาสเกิดวิกฤต 0% แนวโน้มการจ้างงานอยู่ในภาวะปกติ จำนวนลูกจ้างภาคเอกชนมี 2.45แสนคน หดตัวอยู่ที่ -18.06% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่มีแนวโน้มขยายตัวจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งแรกและผลจากการซ่อมแซม ปรับปรุงบ้านเรือนหลังจากประสบอุทกภัย และการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 14.56%

เปิดภาวะจ้างงานไตรมาส2"ยานยนต์-แม่พิมพ์"รุ่ง

อุตสาหกรรมการก่อสร้าง มีโอกาสเกิดวิกฤต 3.0% แนวโน้มการจ้างงานอยู่ในภาวะปกติ ลูกจ้างภาคเอกชนมี  2.13 ล้านคน ขยายตัว 0.42% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้ามีแนวโน้มขยายตัวจากการเร่งซ่อมแซมสาธารณูปโภคและบ้านเรือนที่อยู่อาศัย อีกทั้งตลาดส่งออกปูนซีเมนต์หลัก ๆ ในแถบอาเซียนยังมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของรัฐบาลจะช่วยให้อุตสาหกรรมก่อสร้างขยายตัวได้เช่นกัน

อุตสาหกรรมการขนส่ง มีโอกาสเกิดวิกฤต 6.78%  แนวโน้มการจ้างงานอยู่ในภาวะปกติ ลูกจ้างภาคเอกชนมี 4.16 แสนคน ขยายตัว 10.34% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน และหากพิจารณาโดยอ้อมจากข้อมูลปริมาณน้ำมันที่ใช้การคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ รวมแต่ละปีตั้งแต่ปี 2551 มีปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1 ล้านตัน สะท้อนว่าอุตสาหกรรมขนส่งเติบโตสูงต่อเนื่องอันจะส่งผลดีต่อการจ้างงาน แต่ยังน่ากังวลราคาพลังงานที่สูงขึ้นต่อเนื่อง 

อุตสาหกรรมสื่อกลางทางการเงิน มีโอกาสเกิดวิกฤต 10.28% แนวโน้มการจ้างงานอยู่ในภาวะปกติ จำนวนลูกจ้างภาคเอกชนมี 3.41 แสนคน ขยายตัว 10.00% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการจ้างในสาขานี้ขึ้นอยู่กับการเติบโตของธุรกิจ การลงทุน และปริมาณสินเชื่อที่ยังเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง จึงเชื่อได้ว่าปริมาณการจ้างงานจะยังคงมีต่อเนื่อง

ในส่วนของอีก 7 อุตสาหกรรมที่เหลือที่ไม่สามารถพยากรณ์ได้ กระทรวงแรงงานติดตามข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนเพื่อประเมินแนวโน้มในอนาคต พบว่า อุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ มีจำนวนลูกจ้างภาคเอกชน 8.85 แสนคน หดตัวลดลง -0.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.91 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ 

อย่างไรก็ตามคาดว่าแนวโน้มการจ้างงานจะมีทิศทางเป็นบวกในไตรมาสถัดไป เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น 23.78% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น  6.76% เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมการคาดการณ์ในทิศทางที่ดีขึ้น

อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ มีลูกจ้างภาคเอกชน 2.29 แสนคน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 33.52% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา และขยายตัวเพิ่มขึ้น 20.53% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แสดงให้เห็นแนวโน้มการจ้างงานในระดับดี 

ขณะที่แนวโน้มด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เชื่อว่าจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยหนึ่งมาจากเอสเอ็มอีในประเทศญี่ปุ่นได้ทยอยย้ายฐานการผลิตหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิมายังประเทศไทย ซึ่งนักลงทุนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ส่งผลให้มีความต้องการใช้แม่พิมพ์ตามมา นอกจากนี้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานเริ่มมีการผลิตในประเทศไทยมากขึ้น และอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยมีศักยภาพที่จะสามารถรองรับได้ คาดการณ์ว่าจะส่งผลดีกับการจ้างงานในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ที่จะมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีลูกจ้างภาคเอกชน 3.92 แสนคน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 49.05% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวเพิ่มขึ้น 23.66% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แสดงให้เห็นทิศทางการจ้างงานในระดับที่ดีมาก และคาดว่าจะมีแนวโน้มการจ้างงานที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาสถัดไป ประกอบกับดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นในระดับสูง 310.29% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 62.62% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลถึงแนวโน้มทิศทางการจ้างงานที่สดใสต่อไปในอุตสาหกรรมนี้

อุตสาหกรรมขายส่งและขายปลีกมีลูกจ้างภาคเอกชน 2.14 ล้านคน หดตัวลดลง -2.15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวลดลง -1.43% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนแสดงให้เห็นแนวโน้มการจ้างงานในระดับที่ไม่ดีนัก จำนวนลูกจ้างเอกชนที่ชะลอตัวลดลงอาจเป็นผลมาจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศ ทำให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 

นอกจากนี้ อาจเป็นผลมาจากความกังวลในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท และความกังวลเกี่ยวกับปัญหาขาดแคลนแรงงานและค่าจ้างที่สูงขึ้น กระทบต่อการตัดสินใจลงทุนในระยะยาว จึงมีแนวโน้มที่นักลงทุนต่างชาติจะกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุนเพิ่มขึ้นโดยเพิ่มกำลังการผลิตหรือลงทุนในผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ที่ประเทศอื่นในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ จึงคาดการณ์ว่าแนวโน้มทิศทางการจ้างงานในอุตสาหกรรมการขายส่งและขายปลีกจะชลอตัวลดลงในไตรมาสถัดไป

อุตสาหกรรมงานด้านสุขภาพและสังคมสงเคราะห์ จำนวนลูกจ้างภาคเอกชนมี 1.26 แสนคน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 22.33% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.57% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แสดงให้เห็นทิศทางการจ้างงานในระดับที่ดี 

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีจำนวนลูกจ้างภาคเอกชน 6.39 แสนคน หดตัวลดลง -11.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.41% สะท้อนทิศทางการจ้างงานในระดับที่ไม่ดี  หากแยกในรายละเอียดพบว่า อุตสาหกรรมการปั่น การทอ และการแต่งสำเร็จสิ่งทอ มีดัชนีผลผลิตลดลง-13.24% และอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง -8.87% ส่วนอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกาย รวมทั้งการตกแต่งและย้อมสีขนสัตว์มีดัชนีผลผลิตลดลง -3.58% อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง -2.37% 

ขณะที่ระบบเตือนภัยภาวะอุตสาหกรรมเส้นด้ายจากฝ้ายเดือน ก.ค. ส่งสัญญาณ “ผิดปกติ” เนื่องจากผู้ซื้อชะลอการสั่งซื้อฝ้าย โดยไม่แน่ใจว่าราคาฝ้ายจะลดลงอย่างต่อเนื่องอีกหรือไม่ จึงทำให้การสั่งซื้อฝ้ายในลักษณะ order by order ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมผ้าผืน เดือน ก.ค.ยังส่งสัญญาณ "ปกติ"เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จำนวนลูกจ้างภาคเอกชนมี 5.88แสนคน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่หดตัวลดลง -0.17% แนวโน้มทิศทางการจ้างงานในระดับที่ไม่ดีนัก โดยอัตราลูกจ้างเอกชนชะลอตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มการจ้างงานในระดับที่ทรงตัวในไตรมาสถัดไป