posttoday

สั่งห้ามนำเข้ากล่องทีวีดาวเทียมรุ่นเก่า

30 กรกฎาคม 2555

กสท.เข้มห้ามนำเข้ากล่องทีวีดาวเทียมรุ่นเก่าเข้ารหัสสัญญาณไม่ได้ ป้องกันปัญหาจอดำในอนาคต

กสท.เข้มห้ามนำเข้ากล่องทีวีดาวเทียมรุ่นเก่าเข้ารหัสสัญญาณไม่ได้ ป้องกันปัญหาจอดำในอนาคต

สั่งห้ามนำเข้ากล่องทีวีดาวเทียมรุ่นเก่า

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เปิดเผยว่า หลังจากนี้ไปกสท.จะไม่อนุญาตให้นำเข้ากล่องที่ไม่สามารถเข้ารหัสสัญญาณได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาจอดำในอนาคต  หลังจากเพิ่งจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวกับการถ่ายทอดโอลิมปิกเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ทางผู้ประกอบการได้แจ้งให้กสท.ทราบตั้งแต่แรกแล้วว่า จะมีกลุ่มผู้ชมประมาณ 5-7 แสนรายที่ไม่สามารถรับชมการถ่ายทอดโอลิมปิกได้ เนื่องจากยังใช้กล่องที่ไม่สามารถเข้ารหัสสัญญาณได้ซึ่งเป็นระบบเก่า ซึ่งหลังจากเกิดปัญหาทางผู้ประกอบการก็พยายามทุกทาง  เช่น การออกโปรโมชั่นกล่องเก่าแลกกล่องใหม่ เพื่อให้ผู้ชมได้รับชมโอลิมปิกโดยเร็วที่สุด

"ยอมรับว่าหลักเกณฑ์มัสแครี่อาจจะขลุกขลัก เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น และผู้ประกอบการอาจระมัดระวังมากกินไป  แต่ทุกอย่างก็เพื่อปกป้องสิทธิพื้นฐานในการรับชมฟรีทีวีของผู้ชมทั่วประเทศ"พ.อ.นทีกล่าว

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นส่วนน้อยจากปัจจุบันมีผู้ชมที่รับสัญญาณผ่านดาวเทียม 8 ล้านครัวเรือน และอีก 10 ล้านครัวเรือนรับชมผ่านเสาก้างปลา ซึ่งไม่ได้มีปัญหาใดๆ

นอกจากเรื่องการแก้ปัญหาจอดำแล้ว  บอร์ดกสท.ได้ผ่านร่างประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ระยะเวลารายละเอียดการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และ ร่างประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง โดยจะนำเสนอบอร์ดกสทช.ชุดใหญ่ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

พ.อ.นที กล่าวว่า กสท.ยังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การประมูลใบอนุญาตให้บริการ หรือ ไลเซ่นส์ ทีวีดิจิตอลในต้นปีหน้า ที่จะมีการเปิดรับฟังความเห็น 4 ร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง คือ แผนเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอล มาตรฐานทางเทคนิค  แผนการใช้คลื่นความถี่ที่จะใช้ย่าน 400-700 เมกะเฮิร์ตซ และมาตรฐานของอุปกรณ์รับสัญญาณ หรือ เซ็ท ท็อป บอกซ์ที่จะนำมาใช้กับทีวีดิจิตอล

ขณะที่การให้ไลเซ่นส์เพื่อให้บริการช่องทีวีสาธารณะ คาดว่าจะให้ได้ปลายปีนี้ เช่นเดียวกับราคาไลเซ่นส์ทีวีดิจิตอลที่จะเปิดประมูลที่ได้ให้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู ศึกษาราคา อย่างไรก็ตาม กสท.ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางสังคมมากกว่าราคาที่จะได้รับจากการประมูลในครั้งนี้ เนื่องจากช่องทีวีถือเป็นบริการสาธารณะที่ให้ประโยชน์กับประเทศ ดังนั้น ราคาจึงไม่ใช่ประเด็นหลัก